ศบค.ไฟเขียว ลดเวลากักตัวคนเดินทางเข้าไทย กางแผนพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 3 ระยะ

ศบค.ไฟเขียว ลดเวลากักตัวคนเดินทางเข้าไทย พร้อมกางแผนพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 3 ระยะ

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 27 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงผลประชุม ศบค.ว่า ศบค.ได้มีมติปรับลดเวลากักกันสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศที่ต้องกักกันในสถานกักกันทุกรูปแบบ ทุกประเภท รวมทั้งผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศไทย ในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว หรือประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว หรือตามนโยบายของรัฐบาล ให้มีผลเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า โดยให้ปรับลดระยะเวลาในการกักกันในสถานที่กักกันของรัฐ โดยให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยในทุกช่องทางที่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์มาแล้วอย่างน้อย 14 วัน ให้กักตัวอย่างน้อย 7 วัน และต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 0-1 ครั้งสอง วันที่ 6-7 ส่วนผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ซึ่งโดยสารมาทางเครื่องบิน และไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ให้กักตัวอย่างน้อย 10 วัน และต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 0-1 ครั้งสอง วันที่ 8-9 ขณะที่ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทางช่องทางบก และไม่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ให้กักตัวอย่างน้อย 14 วัน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 0-1 ครั้งสอง วันที่ 12-13 ส่วนผู้ดินทางเข้าประเทศไทยทางน้ำ จะต้องมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนทุกคน

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมเห็นชอบปรับมาตรการทำกิจกรรมสำหรับการเข้าพักที่โรงแรมกักตัวทางเลือก หรือ Alternative Quarantine (AQ) อนุญาตให้ทำกิจกรรมออกกำลังกายกลางแจ้ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน สั่งซื้อสินค้า และอาหารจากภายนอก และประชุมสำหรับนักธุรกิจระยะสั้นได้ ส่วนสถานกักกันของรัฐ หรือ State Quarantine (SQ) และการกักกันผู้เดินทางในสถานที่เอกเทศ ซึ่งดำเนินการโดยองค์กร หรือหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนหรือ Organizational Quarantine (OQ) อนุญาตให้ทำกิจกรรมออกกำลังกายกลางแจ้ง สั่งซื้อสินค้า และอาหารจากภายนอกได้

“ศบค.ยังมีมติเห็นชอบแนวทางการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 น้อยมาก หรือ พื้นที่สีฟ้า โดยกำหนดรูปแบบการท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับลักษณะและความพร้อมของพื้นที่สีฟ้า คือการจัดพื้นที่ที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทั้งจังหวัด รวมถึงการจัดพื้นที่ที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทั้งอำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้าน ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของพื้นที่ นอกจากนี้ ยังต้องดูเรื่องการจัดพื้นที่ที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้เฉพาะสถานที่ เฉพาะพื้นที่หรือระหว่างสถานที่ ระหว่างสถานที่หรือระหว่างพื้นที่ โดยระบบการเดินจะต้องเป็นแบบ Bubble and Seal ที่เรียกว่า Sealed Route

Advertisement

“สำหรับระยะเวลา นำร่องระหว่างวันที่ 1-31 ตุลาคม 2564 ซึ่งถือเป็นพื้นที่ด้านเศรษฐกิจ เป็นเมืองหลัก เป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวของต่างชาติไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด ประกอบด้วย 4 จังหวัดที่เริ่มดำเนินการแล้วได้แก่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) พังงา (เขาหลัก เกาะยาว) และ กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ คลองม่วง ทับแขก)” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ส่วนพื้นนำร่องระยะที่ 1 ที่จะเริ่มมระหว่างวันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นพื้นที่ด้านเศรษฐกิจ เป็นเมืองหลัก หรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กระบี่ ทั้งจังหวัด พังงา ทั้งจังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะตำบลหัวหิน และตำบลหนองแก เพชรบุรี เฉพาะเทศบาลเมืองชะอำ ชลบุรี เฉพาะเมืองพัทยา อ.บางละมุง ตำบล จอมเทียน ตำบลบางเสร่ ระนอง เฉพาะเกาะพยาม เชียงใหม่ เฉพาะอำเภอเมือง อำเภอแม่ริม แม่แตง ดอยเต่า เลย เฉพาะอำเภอเชียงคาน บุรีรัมย์ เฉพาะอำเภอเมือง

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ส่วนพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวระยะที่ 2 ระหว่างวันที่ 1-31 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นพื้นที่ด้านเศรษฐกิจ เป็นเมืองหลัก หรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 จากการท่องเที่ยวทั้งหมด หรือเป็นจังหวัดที่มีสินค้า การท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรม หรือเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ หนองคาย สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี อยุธยา สมุทรปราการ ตราด ระยอง ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา นราธิวาส

Advertisement

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวระยะ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจ จังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ สระแก้ว จันบุรี ตาก นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ อุดรธานี อุบลราชธานี น่าน กาญจนบุรี ราชบุรี สตูล ซึ่งพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวระยะที่ 3 นี้ จะต้องมีมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 โดยสามารถปรับให้เป็นไปตามระดับของพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักรตามพื้นที่เฝ้าระวังได้ โดยต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครอย่างรอบคอ และมีระบบติดตามมาตรการอย่างเข้มแข็ง

“ที่ต้องเน้นย้ำคือมาตรการแบบครอบจักรจักรวาล และโควิด ฟรี เซตติง แต่ยังคงต้องปิดสถานบริการ สถานบันเทิง และสถานบริการอื่นในลักษณะคล้ายกัน โดยไม่จำกัดการเดินทาง ส่วนการจัดกิจกรรมห้ามรวมคนมากกว่า 500 คน ร้านอาหารสามารถบริโภคในร้านได้ เปิดได้ตามปกติ ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า เปิดบริการได้ตามปกติ ร้านเสริมสวย ร้านนวด สถานเสริมความงาม เปิดบริการได้ตามปกติ สถานศึกษาทุกระดับ สถาบันกวดวิชา ให้ใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอนหรือกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมาก สถานที่เล่นกีฬา หรือแข่งขันกีฬา เปิดบริการและจัดการแข่งขันได้ทุกประเภท ทั้งนี้ จะต้องเป็นไปตามมาตรการที่ราชการกำหนด

“ที่ประชุม ศบค.ได้มอบหมายให้ ศปก.ศบค. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image