คณะแพทย์ฯ มอ. เผย ฉีดวัคซีนใต้ผิวหนัง ประสิทธิภาพใกล้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ลดผลข้างเคียงได้ดี

คณะแพทย์ฯ มอ. เผยผลวิจัยฉีดวัคซีนเข้าใต้ผิวหนัง ชี้ประสิทธิภาพใกล้เคียงฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ลดผลข้างเคียงได้ดี

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม หลังจากที่มีการศึกษาและวิจัยอย่างจริงจังเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ทดแทนการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ผลวิจัยจากทีมงานคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่า วิธีการฉีดเข้าใต้ผิวหนังได้ผลดี มีอาการข้างเคียงที่เกิดจากการฉีดวัคซีนน้อยลงมาก ที่สำคัญคือได้ประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งได้ทำการศึกษามาแล้วทั้งวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าและวัคซีนไฟเซอร์

ดร.นพ.นวมินทร์ ปิ่นปฐมรัฐ อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีวเวชศาสตร์และวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า จากการศึกษาและวิจัยในกลุ่มตัวอย่างเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้กับผู้ที่รับวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม เมื่อถึงเวลาที่ต้องรับวัคซีนเข็มที่ 3 ซึ่งเป็น Booster dose การเลือกวิธีฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และใช้วัคซีนเพียง 1 ใน 5 ปรากฏว่า จำนวนภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงใกล้เคียงกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และยังลดผลข้างเคียงได้เป็นอย่างดี มีเพียงอาการบวม แดงเล็กน้อยบริเวณผิวหนังเท่านั้น ส่วนอาการไข้ ปวด เมื่อย ซึ่งปกติพบได้ประมาณ 30 – 50% เมื่อฉีดทางผิวหนังเกิดขึ้นเพียง 5% เท่านั้น

นอกจากนี้ ดร.นพ.นวมินทร์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะนักวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีการศึกษาวิจัยต่อเนื่องด้วยการฉีดวัคซีน “ไฟเซอร์” ให้กับกลุ่มตัวอย่าง โดยเปรียบเทียบระหว่างการได้รับวัคซีนปริมาณ 1 ใน 5 ของโดสปกติเข้าใต้ผิวหนัง เปรียบเทียบกับการได้รับวัคซีนปริมาณปกติเข้ากล้ามเนื้อ ในกลุ่มประชากรทั่วไปจำนวน 91 คน หลังจากได้รับวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม

ผลวิจัยเบื้องต้น พบว่า 14 วันหลังการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้น ด้วยวิธีการฉีดเข้าใต้ผิวหนังในปริมาณ 1 ใน 5 ของโดสปกติ สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งแอนติบอดี้ (B cells) และทีเซลล์ (T cells) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่น้อยกว่าการฉีดวัคซีนเต็มโดสเข้ากล้ามเนื้อแบบปกติ ,

Advertisement

อาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันแบบแอนติบอดี้จะอยู่ที่ 70 BAU/mL และเมื่อรับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 3 ด้วยวิธีการฉีดเข้ากล้ามเนื้อแบบเต็มโดส ภูมิคุ้มกันจะเพิ่มขึ้นเป็น 4559 BAU/mL แบบครึ่งโดสเพิ่มขึ้นเป็น 3034 BAU/mL แต่ในกลุ่มอาสาสมัครที่รับวัคซีนเข็ม 3 แบบฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 ใน 5 ของโดสปกติ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันระบบแอนติบอดี้ได้ 2175 BAU/mL

จากการศึกษาภูมิคุ้มกันชนิด “ทีเซลล์ (T cells)” ที่ใช้ในการจัดการไวรัสที่ติดเชื้อในเซลล์ พบว่า อาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เข้ากล้ามเนื้อแบบเต็มโดสและครึ่งโดส เมื่อถูกกระตุ้นด้วยโปรตีนหนามแหลมของโคโรน่าไวรัส (S1 peptide pool) สามารถหลั่งไซโตไคน์อิเตอเฟอรอนแกรมม่า (IFN-γ) เพื่อกำจัดไวรัสได้ในปริมาณที่ไม่แตกต่างกัน แต่กลุ่มที่ได้รับวัคซีนปริมาณ 1 ใน 5 ของโดสปกติเข้าใต้ผิวหนัง การเพิ่มขึ้นของทีเซลล์นั้นไม่แตกต่างกับก่อนได้รับการกระตุ้น

Advertisement

อาสาสมัครทั้ง 91 คนในโครงการวิจัย ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรงจากวัคซีนโดยกลุ่มที่ได้รับการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง มีผลข้างเคียงทางร่างกาย เช่น ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย น้อยกว่ากลุ่มที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่มีผลข้างเคียงทางผิวหนัง เช่น อาการบวม แดง และคัน มากกว่ากลุ่มที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อซึ่งอาการดังกล่าวหายเองได้ทั้งหมด

นอกจากนี้ ทางคณะผู้วิจัย ยังมีแผนการศึกษาวิจัยต่อเนื่องในการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มประชาชนที่รับวัคซีนแบบไขว้ คือ เข็มที่ 1 ซิโนแวค เข็มที่ 2 แอสตร้าเซเนก้า เพื่อขยายผลพิจารณาแนวทางและวิธีการฉีดที่เหมาะสม โดยอาจจะนำวิธีการฉีดเข้าใต้ผิวหนังมาเป็นทางเลือกในการฉีดเข็มที่ 3 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มการกระจายวัคซีน รวมถึงลดผลข้างเคียงที่หลายคนกำลังวิตกกังวลอีกด้วย คณะผู้วิจัยขอขอบคุณอาสาสมัครและผู้มีส่วนร่วมในโครงการวิจัยทุกท่าน ทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะนำข้อมูลมาเผยแพร่ต่อไปเป็นระยะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image