‘ผับบาร์คาราโอเกะ’ ลุ้นประชุม ศบค. 7 ม.ค.นี้ชี้ชะตาเปิดใหม่หรือปิดต่อ พร้อมปรับสีพื้นที่หนัก-เบา

Photo by Mike Yakaites from Pexels

‘ผับบาร์คาราโอเกะ’ ลุ้นประชุม ‘ศบค.’ 7 ม.ค.นี้ ชี้ชะตาเปิดใหม่หรือปิดต่อ พร้อมปรับสีพื้นที่หนัก-เบา

เมื่อวันที่ 5 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมณี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้มีการประชุมประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากผ่านพ้นเทศกาลปีใหม่ เพื่อเตรียมเสนอต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ ในวันที่ 7 มกราคมนี้ โดยมีเรื่องสำคัญในการพิจารณา ได้แก่ 1.มาตรการปรับสีพื้นที่ตามสถานการณ์ โดยจะเป็นการจำกัดจำนวนคน การรวมกลุ่มกิจกรรม และการดื่มสุราในร้านอาหาร 2.การปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรค อาทิ การเปิดสถานบันเทิง จากเดิมที่จะพิจารณาเปิดสถานบันเทิง เนื่องจากหลังช่วงเทศกาลปีใหม่เป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์ร้านอาหารกึ่งผับบาร์มากขึ้น ทำให้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจว่าจะมีการเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะหรือไม่ และ 3.การปรับมาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศแบบเทสต์แอนด์โก รวมถึงมาตรการเพิ่มเติมสำหรับจัดการกับสายพันธุ์โอมิครอนที่มีการระบาดอย่างรวดเร็วด้วย

พญ.สุมณีกล่าวว่า สำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ พบว่ามีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้ามาในรูปแบบเทสต์แอนด์โกและแซนด์บ็อกซ์ โดยหากประเมินจากยอดผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ตั้งแต่ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ 1-4 มกราคม 2565 พบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 605 ราย ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากย้อนไปตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนจะมีการติดเชื้อในสัดส่วนที่ 0.08% เดือนธันวาคม เพิ่มขึ้นเป็น 0.38% และเข้าสู่เดือนมกราคมเพียง 4 วัน พบว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงถึง 2.12% และรองลงมาคือผู้ติดเชื้อที่เข้ามาในระบบแซนด์บ็อกซ์ ที่พบว่ามีผู้ติดเชื้อในการเดินทางรูปแบบดังกล่าว 30 ราย และพบผู้ที่ติดเชื้อที่เข้ามาในรูปแบบการกักตัวอีก 24 ราย

“หากพิจารณาจากระยะเวลาวันที่ติดเชื้อ พบการติดเชื้อตั้งแต่วันแรกที่เดินทางมาถึง กว่าจำนวน 74 ราย หรือคิดเป็น 43.79% และพบอีกครั้งในวันที่ 4-7 มากถึง 55 ราย คิดเป็น 32.54% ซึ่งในจำนวนผู้ติดเชื้อ พบว่าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติถึง 85.21% และไม่มีอาการสูงถึง 50.89% โดยมีชาวต่างชาติการเดินทางเข้าประเทศไทยสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1.สหราชอาณาจักร มีอัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 5.92 % 2.สหรัฐอเมริกา 5.30% 3.เยอรมนี 2.85% 4.สวีเดน 2.3% และ 5.ฝรั่งเศส 2.17%” พญ.สุมณีกล่าว

พญ.สุมณีกล่าวอีกว่า นอกจากนี้มีคำถามเพื่อขอความชัดเจนว่า การเกิดภูมิคุ้มกันของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่สามารถแพร่เชื้อง่าย แต่ไม่รุนแรงนั้น ควรปล่อยให้มีการติดเชื้อเพื่อเกิดเป็นภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ หรือการเกิดภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนดีกว่ากัน โดยขอให้ข้อมูลว่า การมีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนต้องดีกว่าการทำให้มีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้ออย่างแน่นอน เนื่องจาก 1.เมื่อมีการระบาดติดเชื้อเป็นวงกว้าง ระบบสาธารณสุขในประเทศนั้นๆ อาจไม่สามารถรองรับได้ทัน ซึ่งเชื้อโอมิครอนสามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วด้วย

Advertisement

พญ.สุมณีกล่าวว่า 2.แม้คนไทยจะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วถึง 64.1% แต่ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นจำนวนหลายล้านคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มแรก ทำให้คนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เมื่อเกิดการติดเชื้อจะมีการอาการหนัก และมีอัตราการเสียชีวิตที่สูง 3.โควิดสายพันธุ์โอมิครอน ถือเป็นการกลายพันธุ์ของไวรัสใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าหลังการติดเชื้อไปแล้ว แม้จะยังไม่เสียชีวิต แต่ในระยะยาวยังไม่สามารถทราบได้ว่าจะมีภาวะระบบทางเดินหายใจที่ผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่ หรือมีการระบบการไหลเวียนของเลือดที่ผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่

“และ 4.หากมีการปล่อยให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง เท่ากับว่าเหมือนเป็นการส่งเสริมให้เชื้อโรคมีความสามารถในการกลายพันธุ์มากขึ้น และเชื้อโรคก็จะมีความซับซ้อน ทำให้สามารถทำอันตรายได้มากขึ้น” พญ.สุมณีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image