สธ.ชี้โควิดรักษาได้ที่บ้าน จ่อปรับเป็นโรคประจำถิ่น ย้ำอย่ากลัว วัคซีนช่วยอาการไม่หนัก

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

โควิดรักษาที่บ้านได้ชัวร์! นับยอดติดเชื้อใหม่จ่อเข้าโรคประจำถิ่น หมอย้ำอย่ากลัว วัคซีนช่วยอาการไม่หนัก

เมื่อวันที่ 11 มกราคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการปรับตัวเลขรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย หลังจาก ศบค.เริ่มนับยอดใหม่ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา ว่า การนับตัวเลขใหม่นี้เป็นทิศทางที่กำลังจะเข้าสู่โรคประจำถิ่น (Endemic) หากนับระลอกแรก คือการติดเชื้อที่พบเมื่อต้นปี 2563 ระลอก 2 คือต้นปี 2564 ระลอก 3 คือช่วงเดือนเมษายน 2564 และ ระลอก 4 คือ ช่วงเดือนมกราคม 65 แต่หากนับแบบนี้คนจะงง เราก็เรียกเป็นช่วงเวลา ที่ผ่านมาคือ ระลอกเมษายน 2564 ที่อัลฟ่ากับเดลต้าเป็นตัวเด่น ต่อมาตัวเลขติดเชื้อก็ลดลง ขณะนี้ก็เพิ่มขึ้น เราก็เรียกว่าระลอกมกราคม 2565 ที่มีโอมิครอนเป็นตัวเด่น

“เราพยายามปรับเป็นโรคประจำถิ่น จะเน้นเรื่องผู้ป่วยหนัก ผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นหลัก ซึ่งจะเปรียบเทียบกันระหว่างปี จะเริ่มกระบวนการเข้าสู่โรคประจำถิ่น” นพ.โอภาส กล่าว และว่า สิ่งสำคัญสุดคือความเข้าใจของประชาชน หากยังตื่นตระหนก ตื่นกลัว ก็จะเข้าสู่โรคประจำถิ่นไม่ได้

นพ.โอภาส กล่าวว่า เชื่อว่าคนเข้าใจธรรมชาติของโรคดีขึ้นมา เข้าใจว่าจะป้องกันอย่างไร เช่น ขณะนี้ตัวเลขผู้ที่กำลังรักษาอยู่ 58,159 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยปอดอักเสบ 492 ราย ซึ่งคิดเป็น 8 ในพันราย ถือว่าต่ำมาก ขณะที่ ผู้ใส่ท่อช่วยหายใจ 110 ราย คิดเป็น 2 ในพันราย โดยอัตราเสียชีวิตก็จะน้อยกว่า 1% ฉะนั้น ก็จะพอๆ กับไข้หวัดใหญ่ ที่เสียชีวิต 1 ในพันราย ดังนั้น ตัวเลขใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่มากแล้ว ดังนั้น หากโอมิครอนเป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ฉีดวัคซีนเยอะๆ อีกไม่นานเราจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้ แต่เราต้องทำความเข้าใจเพื่อให้คนไม่กลัว ต้องเชื่อได้ว่าเรารักษาจากที่บ้านได้ เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้

เมื่อถามว่า ผู้ที่ปฏิบัติตามมาตรการ Covid Free Setting ด้วยการตรวจ ATK เป็นประจำ แล้วพบว่าติดเชื้อ โดยไม่มีอาการอะไร และเข้าระบบรักษาที่บ้าน (HI) ยังจำเป็นต้องประกาศตัวเอง เพื่อบอกไทม์ไลน์ หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า หากจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นก็ควรเป็นเช่นนั้น แต่เพียงต้องระวังไม่ให้แพร่เชื้อให้คนอื่น แต่เข้าใจว่าหลายคนยังกังวลว่าจะติดเชื้อให้คนอื่น

Advertisement

“ไม่ต้องตื่นตระหนกเหมือนเมื่อก่อน เพราะเราเชื่อว่า โรคไม่รุนแรง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ มันก็จะเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้เร็วๆ นี้ ซึ่งจะประกอบ 3 ส่วนคือ 1.โรคอ่อนฤทธิ์ลง 2.คนได้รับวัคซีน และ 3.สิ่งแวดล้อม คือระบบการรักษาด้วย ซึ่งเช่นคนเป็นหวัดก็ไม่ต้องเข้านอน รพ. ดังนั้น การสื่อสารทำความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ หากเรายังกลัวว่าโควิดเป็นโรครุนแรงมาก เพราะก็จะไปข้างหน้ายาก อย่างบางประเทศบุคลากรสาธารณสุขติดเชื้อยังไม่หายดี ก็สวมหน้ากาก N95 ไปทำงานแล้ว แต่เรายังไม่ถึงขนาดนั้น แต่สิ่งที่เน้นย้ำคือการทำความเข้าใจกับประชาชน ให้ไม่กลัว เป็นเรื่องสำคัญที่สุด” นพ.โอภาสกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image