‘ผอ.ศปก.ศบค.’ ย้ำ สถานบันเทิง-ร้านอาหาร เปิด-ปิด ยึดตาม กม.กำหนด ด้าน ยกเลิกใส่แมสก์ รอ ‘สธ.’ แนะใส่กิจกรรมใดบ้าง
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 23 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนกรณี ศบค.ผ่อนคลายมาตรการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิง ว่า
ตามที่ที่ประชุม ศบค. เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ถือว่าเป็นมาตรการผ่อนคลายด้านเศรษฐกิจ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้สถานบริการทั้งหมดเปิดได้ตามกฎหมายปกติ จึงต้องไปดูพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509, กฎกระทรวง, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี, กฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งทั้งหมดมีกำกับไว้อยู่แล้ว ทั้งในเรื่องของเวลาการเปิด-ปิด ในพื้นที่ที่เป็นโซนนิ่งและไม่ใช่โซนนิ่ง เวลาห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่ผู้ประกอบการได้ร้องขอให้ยกเลิกกฎหมายบางส่วนนั้น ก็ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณาดำเนินการ สำหรับสิ่งที่ ศบค.รับผิดชอบ ก็จะเป็นไปตามข้อกำหนดที่จะออกมาภายใน 1-2 วันนี้ ซึ่งจะเป็นข้อกำหนดที่ระบุให้สถานบริการดำเนินการตามกฎหมายปกติที่มีอยู่ก่อนที่จะมีสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด
ผู้สื่อข่าวถาม ถึงความชัดเจนว่าสามารถเปิดสถานบันเทิงได้ถึงเวลาเท่าไหร่ พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า ให้ยึดตามกฎหมายปกติที่จะระบุ เรื่องของเวลาขึ้นอยู่กับประเภทของสถานบริการ ร้านอาหารที่จะเปิดโดยจะมีทั้งที่ให้เปิดได้ถึงเวลา 24.00 น., 01.00 น. และ 02.00 น. ไม่เกินจากนี้ โดยขึ้นอยู่กับรูปแบบการจดทะเบียนสถานบริการ ร้านอาหาร
- ผู้สื่อข่าวถามว่า การให้ประชาชนสามารถถอดหน้ากากอนามัยในที่โล่งแจ้งได้ แล้วจะพิจารณาอย่างไรว่าจะต้องกลับมาให้ใส่อีกครั้ง
พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า ศบค.กำลังจะออกข้อกำหนด โดยมีทั้งการประกาศให้ทั่วประเทศเป็นพื้นที่สีเขียว กิจการกิจกรรมต่างๆ สามารถดำเนินได้ตามปกติ แต่มีข้อกังวลบางส่วนจากกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ออกมาเป็นข้อกำหนดบังคับ คือการที่กิจกรรมที่จะมีการรวมตัวของคนเกิน 2,000 คน จะต้องได้รับอนุญาตก่อน ขณะที่เรื่องของการผ่อนคลายถอดหน้ากากอนามัย ได้มีการยกเลิกกฎหมายที่บังคับว่าจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา และจะมีมาตรการจากกระทรวงสาธารณสุขออกมาแนะนำให้ประชาชนควรใส่ในกิจกรรมใดบ้าง และสามารถอนุโลมให้ถอดหน้ากากอนามัยในกิจกรรมใด แต่ในภาพรวมจากสถานการณ์ที่ทุกคนได้เห็น
ส่วนตัวคิดว่าการสวมหน้ากากอนามัยนั้นยังมีความจำเป็น เพราะทางการแพทย์เองก็ยังเห็นว่ามีความจำเป็น ส่วนการจะกลับมาบังคับให้สวมหน้ากากอนามัยอีกครั้งนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องประเมินวิกฤตที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเท่าที่ตนดูในสถานการณ์ปัจจุบันก็คิดว่าไม่น่าจะเกิดวิกฤตอีก โดยจะมีมาตรการอื่นๆ ทางการแพทย์ออกมารองรับ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเตรียมพร้อมเรียบร้อยแล้ว สิ่งเหล่านี้จะช่วยอำนวยให้บรรยากาศ ของประชาชนได้ปรับตัวเองในการใช้ชีวิตร่วมกับโรคโควิด-19 และสุดท้ายโรดแมปที่จะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นก็จะมีความเป็นไปได้
- ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีการพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงที่สิงคโปร์แล้ว ในส่วนของประเทศไทยจะต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษหรือไม่
พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า ขอให้ฟังข้อมูลจากทางกระทรวงสาธารณสุขที่จะทยอยแจ้งให้ประชาชนทราบว่าควรระมัดระวังอย่างไร แต่ไม่ว่าจะเป็นเชื้อประเภทไหน สิ่งที่แพทย์ให้ความสำคัญคือเรื่องอันตรายที่มีต่อร่างกาย ดังนั้นตนคิดว่าสิ่งแรกที่จะช่วยได้คือการสวมหน้ากากอนามัย ป้องกันตัวเองไว้ก่อน สิ่งที่สองคือการฉีดวัคซีน โดยในวันเดียวกันนี้ก็ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องการรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เป็นการพูดคุยให้กระทรวงมหาดไทยใช้กลไกฝ่ายปกครอง ตั้งแต่ระดับชุมชน หมู่บ้าน ไล่เรียงขึ้นมา ให้ช่วยพูดคุยกับประชาชนให้ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างสะดวกที่สุด
- ผู้สื่อข่าวถามว่า การผ่อนคลายให้ประชาชนถอดหน้ากากอนามัยในที่โล่ง แต่ขณะนี้มีเชื้อโรคใหม่ และเชื้อกลายพันธุ์เข้ามา ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะต้องรอให้วัวหายแล้วค่อยล้อมคอกอย่างนั้นหรือ
พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า ไม่ ขณะนี้ยังยืนยันว่าสามารถดำเนินการตามมาตรการ ข้อกำหนดที่จะออกไป หากจะมีการเปลี่ยนแปลง ทางกระทรวงสาธารณสุขจะประเมินแล้วแจ้งให้ทราบ แม้จะมองว่ามีความน่ากังวลแต่มาตรการที่ออกมาคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา