19มี.ค. ‘กรุงเทพฯ-ปริมณฑล’ ซ้อมแผนฉุกเฉินรับมือ ‘โควิด-19’ สธ.รับยังหาต้นตอที่สนามมวยไม่ได้

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 10 แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ในประเทศไทย

นพ.ทวีศิลป์ แถลงว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข หรืออีโอซี (EOC) มีคำสั่งให้จัดทำการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะและการฝึกซ้อมเฉพาะหน้าที่ (Table Top Exercise: TTX) ที่ สธ.ร่วมกับกระทรวงกลาโหม โดยจะใช้พื้นที่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สร้างสถานการณ์จำลองขึ้นมา เพื่อที่จะซ้อมแผนรับมือ ในวันที่ 19 มีนาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น. จึงต้องแจ้งให้รับทราบโดยทั่วกัน เพื่อไม่ให้เกิดความแตกตื่นในประชาชน

Advertisement

ด้าน นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้ข้อมูลของผู้ป่วยที่พบในประเทศไทย จำนวน 212 ราย มีคนไทยประมาณร้อยละ 70 เนื่องจากช่วงหลังมีพบการติดเชื้อในคนไทยเป็นหลัก ในลักษณะเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ ส่วนชาวต่างชาติร้อยละ 30 โดยส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ที่เหลือเป็น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และยุโรป

นพ.โสภณ กล่าวว่า ในส่วนของผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับสนามมวยมีประมาณ 40 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร และส่วนหนึ่งอยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งผลของการสอบสวนผู้ที่กลับต่างจังหวัดก็สามารถตามได้ เช่น จ.ขอนแก่น จ.สมุทรปราการ จ.เชียงใหม่ จ.สุโขทัย จ.นครราชสีมา จ.กาฬสินธุ์ และ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งคนกลุ่มนี้ได้รับการติดตามจนตรวจพบเชื้อ

“จะเห็นได้ว่าหลังจากมีการรับเชื้อที่สนามมวยในวันที่ 6 มีนาคม ก็เริ่มมีการทยอยแสดงอาการป่วยออกมาไม่เกิน 1 สัปดาห์ ดังนั้น หากเกิน 1 สัปดาห์ไปแล้ว ก็แทบจะไม่พบรายใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องเฝ้าระวัง 14 วัน และดูผู้สัมผัสในครอบครัวร่วมด้วย ว่ามีใครได้รับเชื้อต่อหรือไม่ ส่วนกรณีการตามผู้ป่วยรายแรกในกลุ่มก้อนในสนามมวยที่มีคนไปรวมกันกว่าพันคน ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ สธ.มีความพยายามเชื่อมโยงเพื่อดูว่าใครคือ ผู้ป่วยรายแรกจริงๆ ซึ่งเป็นความยากที่จะสอบถามข้อมูลจากหลายแหล่งว่าใครเป็นผู้ที่มีอาการป่วยก่อนวันที่ 6 มีนาคม และขณะนี้รวบข้อมูลได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่สามารถสรุปได้ทันที ซึ่งถือเป็นข้อจำกัด” นพ.โสภณ กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า อัตราผู้ป่วยติดเชื้อและเสียชีวิตที่ประเทศอิตาลี เมื่อเทียบกับประเทศไทย เหตุใดจึงมียอดที่แตกต่างกันมาก นพ.โสภณ กล่าวว่า สถานการณ์ในอิตาลี เกิดโรคในเวลาอันสั้นมีจำนวนผู้ป่วยมากเกินกว่าที่ระบบสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลปกติจะรองรับได้ และผู้ป่วยที่มีอาการหนัก หรือผู้สูงอายุอาจจะได้รับการรักษาเป็นลำดับรอง เนื่องจากเกณฑ์สาธารณสุขของอิตาลีกำหนดคือให้ดูแลผู้ที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนก่อน ใช้เครื่องช่วยหายใจในกลุ่มที่มีโอกาสรอดและใช้เวลารักษาที่สั้น ดังนั้นผู้สูงอายุจึงเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่า

เมื่อถามว่า มีข้อสังเกตว่าขณะนี้ผู้ป่วยที่เชื่อมโยงกับสนามมวย มีการแพร่กระจายไปในพื้นที่ต่างจังหวัดแล้ว สธ.จะมีการจัดการอย่างไร นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า กรณีของระบบจัดการ สธ.ดำเนินการทันทีคือ การตัดวงจรแพร่ระบาด คือ ผู้ที่สัมผัสหรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูงทั้งหมดถูกตรวจหาเชื้อ และแม้ว่าให้ผลลบแต่ยังต้องเฝ้าระวังอาการให้ครบ 14 วัน อยู่ที่บ้าน และผู้ที่ตรวจพบเชื้อโดยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง เกือบทั้งหมดได้ทยอยนำมาแยกกัก (Isolated room) ในสถานพยาบาลเป็นส่วนใหญ่

นพ.สุวรรณชัย กล่าวถึงมาตรการป้องกันโรคในเชิงสถานที่ว่า ทุกพื้นที่เจ้าพนักงานได้ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือของเจ้าของสถานที่ให้ปิดทุกสถานที่ไปเรียบร้อยแล้ว และเมื่อวันที่ 17 มีนาคม คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติว่า ให้ปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าว เดิมมีคนเข้าไปรวมตัวกันอยู่มาก จึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว อย่าตกใจ ปฏิบัติตน เฝ้าระวังอาการป่วย หากมีการเจ็บป่วยสามารถติดต่อที่ โทร.1669

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

เมื่อถามว่า กรณีที่นายกองค์การบริการส่วนจังหวัด (อบจ.) ฉะเชิงเทรา ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมีประวัติการเดินทางไป 16 สถานที่ กรณีนี้ควรมีการปิดเมืองหรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า บุคคลดังกล่าวรักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร มี 2 ส่วน ที่ทำร่วมกันคือ 1.การควบคุมโรคการป้องกันส่วนบุคคล ได้นำผู้ป่วยมาแยกกักและค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิด เพื่อตัดวงจรให้ครบถ้วน และสื่อสารไปยังประชาชนว่าเป็นผู้ที่สัมผัสกับบุคคลดังกล่าวให้เฝ้าระวังอาการ ปฏิบัติตนตามคำแนะนำ และอย่าตกใจ เพื่อป้องกันกรณีมีการติดเชื้อไวรัส จะได้ไม่แพร่ไปสู่ผู้อื่น 2.การควบคุมป้องกันในระดับพื้นที่ ครม.มีมติชัดเจนว่า มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ให้ใช้อำนาจทั้งในมาตราที่ 35 สามารถปิดพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่เกิดโรครวมไปถึงพื้นที่ที่อาจเกิดความเสี่ยง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image