กกร.เสนอรัฐ 8 ข้อ เพิ่มเงินลูกจ้างเป็น 1.2 หมื่นบาท เว้นค่าไฟ-น้ำ 4 เดือน

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)แถลงข่าวผลประชุมนัดพิเศษต่อข้อเสนอ กกร.ต่อภาครัฐ มีนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าว และมีนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และผู้บริหารบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ร่วมแถลงผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ อาทิ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธาน กรรมการกลุ่มมิตรผล นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

นายสุพันธุ์ ในฐานะประธาน กกร. กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลไทยได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) นั้น จึงร่วมประชุมเพื่อหารือถึงแนวทางการดำเนินการและข้อเสนอแนะของภาคเอกชน ที่สนับสนุนมาตรการหยุดยั้งการแพร่กระจายของโควิด-19 ของภาครัฐ โดยภาคเอกชนขอให้ภาครัฐดูแลโรงงานโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นยิ่งยวด Critical Industry and Supply Chain (CISC) และการขนส่งสินค้า (Logistics) เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าที่จำเป็นขาดแคลน ดังนี้ อุตสาหกรรมอาหาร น้ำตาล น้ำมันปาล์ม เครื่องจักรกลการเกษตร การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ พลาสติก แก้วและกระจก เยื่อกระดาษ อะลูมิเนียมอุตสาหกรรมยา สมุนไพร เครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซ พลังงานหมุนเวียน และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ

โดยธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการต่อไป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจอย่างรุนแรงสามารถดำเนินการได้ อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม, เวชภัณฑ์การแพทย์, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, ธนาคาร ธุรกิจการเกษตร, พลังงานและสาธารณูปโภค รวมถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ต้องป้อนอุตสาหกรรมข้างต้น ช่องทางการจัดจำหน่าย การขนส่งและโลจิสติกส์

สำหรับข้อเสนอต่อภาครัฐ 1.ให้ภาครัฐดูแลโรงงานโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นยิ่งยวด Critical Industry and Supply Chain (CISC) และการขนส่งสินค้า เพื่อป้องกันไม่ให้อุตสาหกรรมดังกล่าวหยุดชะงัก 2.ขอให้งดการจ่ายประกันสังคมสำหรับลูกจ้างและนายจ้าง เป็นระยะเวลา 4 เดือน 3.ให้ภาครัฐเพิ่มเงินช่วยเหลือลูกจ้างที่ว่างงานหรือถูกเลิกจ้างจากเดิมร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 80 หรือ 12,000 บาท 4.ขอเลื่อนการจ่ายค่าน้ำและค่าไฟออกไป 4 เดือน 5.ให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า กรณีใช้งบประมาณเพื่อป้องกันโควิด-19 6.ให้ระบบสาธารณูปโภคให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง 7.หน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจติดต่อกับภาคเอกชน สามารถให้บริการทางออนไลน์ได้ 8.ให้ผู้ขนส่งสินค้าสามารถส่งสินค้าได้ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image