กรมควบคุมโรคชี้เหตุ ‘หมอ-พยาบาล’ ติดเชื้อ กว่า 50% เพราะคนไข้ไม่พูดความจริง

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า สถานการณ์ของประเทศไทยที่พบผู้ป่วยยืนยันหลังวันที่ 15 มีนาคม ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนจากที่มีการระบาดในกรุงเทพมหานคร (กทม.) กระทั่งเมื่อวันที่ 16-25 มีนาคม ได้กระจายไปหลายจังหวัด แต่พบว่าหากกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีอัตราของการติดเชื้อ 1 ราย จะติดต่อ 3.4 ราย ซึ่งเป็นอัตราที่สูง แต่ทางภาคใต้ เช่น สงขลา ปัตตานี ภูเก็ต อัตราของการติดเชื้อ 1 ราย จะติดต่อ 2.2 ราย และที่อื่นๆ อัตราของการติดเชื้อ 1 ราย จะติดต่อ 1.8-2.2 ราย ซึ่งเป็นไปตามวิชาการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า สัดส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ที่ป่วยมีประมาณเท่าไร และนอกเหนือจากผู้ป่วยไม่ได้แจ้งข้อมูลกับแพทย์จนทำให้แพทย์ติดเชื้อ มีปัจจัยใดอีกบ้าง นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ในจำนวนผู้ป่วย 1,045 ราย มีบุคลากรทางแพทย์ 9 ราย และในจำนวนบุคลากร 9 ราย มีมากกว่าร้อยละ 50 ที่ผู้ป่วยไม่ได้บอกประวัติการเดินทางว่าตนเองเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อ

Advertisement

“ข้อมูลรายงานว่าบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อสะสม 9 ราย เริ่มต้นจากบุคลากรจากโรงพยาบาล (รพ.) เอกชน ที่ไม่ทราบว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อมารักษาตัวแต่มีอาการคล้ายโรคไข้เลือดออก บุคลากรจึงไม่ได้ระมัดระวังตัวเอง อย่างไรก็ตาม บุคลากรทางการแพทย์ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่แล้ว แพทย์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุขที่จะต้องทำการพูดคุยกับผู้ป่วย ในการสอบสวนโรค ซักประวัติ  ดังนั้นจะต้องมีการป้องกันตนเองเสมอ” นพ.อนุพงศ์ กล่าว

 

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ “หมอแล็บแพนด้า” จะนำรถเคลื่อนที่ไปตรวจหาเชื้อหาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในหลักการแล้วสามารถทำได้หรือไม่ นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ไม่สามารถรู้ได้ว่ารายละเอียดเขาจะทำอย่างไรบ้าง แต่หากเป็นการเก็บตัวอย่าง เช่น สารคัดหลั่ง น้ำมูก  น้ำลาย ฯลฯ ถ้าผู้ที่เก็บตัวอย่างไม่มีความรู้ ไม่มีการป้องกันตัวโอกาสติดเชื้อจะมีมากขึ้น แต่ถ้าหากว่าการเก็บตัวอย่างมีการเก็บที่ดี เช่น การเจาะเลือด  และนำไปตรวจในชุดตรวจว่องไว ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยมากกว่า แต่การแปรผลการตรวจจะต้องมีความชำนาญอย่างมาก ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นหน่วยงานที่ทำการประเมินรับรอง ห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งทั่วประเทศมีถึง 44 แห่ง และจะมีการเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต

 

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยหลักพันเป็นไปในตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยพบผู้ป่วยจำนวนหลักพัน ยืนยันว่าไม่ใช่ตามที่คาดไว้ เนื่องจากระยะของการระบาดที่ 2 ได้วางแผนไว้เพื่อให้มีผู้ป่วยน้อยที่สุด และหน่วงให้สถานการณ์มีระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมเรื่องทรัพยากรให้พร้อมในการเข้าสู่การระบาดระยะที่ 3 หรือระบาดช้าลง แต่ประเทศไทยพบผู้ป่วยในเหตุการณ์กลุ่มก้อน ใหญ่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมทั้งสิ้น  จึงไม่ได้อยู่ในความคาดหมายของ สธ.

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image