เปิดสูตร ‘กินดี-อยู่ดี’ ช่วงหลบภัย ห่างไกล ‘โควิด-19’

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 และทุกบ้านอยู่ในภาวะหลบภัยที่บ้าน เรื่องของโภชนาการก็ยังสำคัญต่อร่างกาย

ล่าสุด นายสง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการ และที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เชื่อว่าสิ่งแรกที่ทุกบ้านมีติดไว้คือ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” แต่การกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปให้ได้ประโยชน์สูงสุด มีคำแนะนำคือ ขั้นตอนที่ 1 ต้มน้ำให้เดือด ใส่เส้นบะหมี่ลงไปต้มนานเพียง 1-2 นาที เทน้ำทิ้งเพื่อล้างเอาโซเดียมบางส่วนออกบ้าง แล้วเติมน้ำพอประมาณ ต้มให้เดือด ขั้นตอนที่ 2 ตอกไข่ หรือใส่หมู/ไก่สับ หรือลูกชิ้น หรือเต้าหู้/โปรตีนเกษตร ถ้าไม่เติมจะทำให้ร่างกายขาดโปรตีน กินบ่อยร่างกายอ่อนแอ ขั้นตอนที่ 3 ใส่ผักตามชอบ เช่น ถั่วงอก ผักกาด ตำลึง ผักบุ้ง หรือผักอะไรก็ได้ ถ้าไม่ใส่ผัก ร่างกายจะขาดวิตามินและแร่ธาตุ ใยอาหารและพฤกษาเคมี ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายพร่องลง ขั้นตอนที่ 4 หากจะใส่เครื่องปรุงอาจจะเริ่มเพียงครึ่งซอง เพื่อลดการได้รับโซเดียม และไขมันมากเกินไป แล้วยกลงตักใส่ถ้วยกิน

“ทั้งนี้ กินได้วันละไม่เกิน 1 ซอง และสัปดาห์ละ 2-3 ซอง เพื่อเป็นการกินอาหารที่หลากหลาย การกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบ่อยๆ คือการกินอาหารที่ซ้ำซากและจำเจ เพิ่มความเสี่ยงต่อการที่ร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ในทางตรงกันข้ามก็ได้รับสารตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป เช่น โซเดียม ไขมัน ฯลฯ ไม่ควรซดน้ำจนหมดถ้วย ลดการได้รับโซเดียม ควรกินบะหมี่แห้งสลับกันไป การกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซอง เท่ากับร่างกายจะได้รับโซเดียมเกือบ 2,000 มิลลิกรัม (มก.) เสี่ยงต่อเกินความต้องการของร่างกายใน 1 วัน ต้องกินพร้อมผัก และหลังกินควรกินผลไม้ตาม เพื่อให้ร่างกายได้รับโปแตสเซียมที่จะไปรักษาความสมดุลของโซเดียมในร่างกาย” นายสง่ากล่าว

ที่ปรึกษากรมอนามัยกล่าวว่า หากกิน อาหารกระป๋อง ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ควรเลือกซื้อยี่ห้อที่น่าเชื่อถือ อ่านฉลาก วันหมดอายุ กระป๋องต้องไม่บวม บุบ บู้บี้ ไม่เป็นสนิม เก็บไว้ในที่แห้ง สะอาด ไม่ร้อนจัด จะเก็บไว้ได้นาน เลี่ยงการขนย้ายเข้า-ออกห้องปรับอากาศ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเกิดสนิม เมื่อเปิดกระป๋อง ต้องสังเกต สภาพอาหารไม่มีกลิ่น รส สีที่ผิดธรรมชาติของอาหารนั้นๆ เทอาหารออกจากกระป๋อง ด้านในกระป๋องต้องเรียบ ไม่มีรอยกัดกร่อน

Advertisement

“ถ้าเป็นอาหารคาวให้เทถ่ายอาหารลงในภาชนะหุงต้ม นำไปอุ่นให้เดือดนาน 5-15 นาที แล้วแต่ชนิดอาหาร เพื่อความปลอดภัย และน่ากินมากขึ้น อย่านำอาหารกระป๋องไปต้มทั้งกระป๋อง สารโลหะอาจละลายมาปนอาหารได้ นำอาหารกระป๋องมาปรุงและประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ยำ ต้ม แกง ผัด นึ่ง” นายสง่า กล่าว และว่า ไม่ควรกินอาหารกระป๋องที่เก็บไว้นานจนเกินไป เพราะอาจมีโลหะภายในตัวกระป๋องละลายออกมา ควรกินอาหารกระป๋องประเภทเนื้อสัตว์ควบคู่กับผักและเมนูอาหารอื่นทุกครั้ง เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ไม่ควรกินอาหารระป๋องบ่อยจนเกินไป สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง น่าจะพอ กินอาหารสดสลับกันไป เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน ถ้ากินครั้งเดียวไม่หมด ให้เทใส่ลงในภาชนะที่สะอาดมีฝาปิดมิชิด เก็บไว้ในตู้เย็น นานไม่ควรเกิน 1 สัปดาห์

นอกจากนี้ นายสง่ากล่าวว่า หากมีการ สั่งหรือซื้ออาหารมากินที่บ้าน ต้องมั่นใจว่าร้านสะอาด อาหารปรุงสุกใหม่ อาหารต้องครบ 5 หมู่ ต้องมีผัก ไม่หวาน มัน เค็ม เน้นสั่งต้ม แกง นึ่ง อบ น้ำพริก ย่าง ไม่ไหม้เกรียม เลี่ยงอาหารทอดน้ำมันลอย ถ้าผัดน้ำมันไม่เยิ้ม เลี่ยงอาหารที่บูดเสียง่าย เช่น ลาบ ยำ แกงกะทิ ขนมจีน ส้มตำ ฯลฯ สั่งเมนูที่หลากหลาย อย่างสั่งเมนูซ้ำซาก การรับอาหารให้สวมหน้ากากอนามัย ให้วางอาหารหน้าบ้าน เตรียมเงินพอดี ไม่ต้องทอน

นายสง่ายังกล่าวทิ้งท้ายว่า ในการ อุ่นอาหารที่สั่งทำนานเกิน 3-4 ชั่วโมง (ชม.) ก่อนกิน ควรอุ่นอาหารให้เดือด แต่ถ้ามั่นใจอาหารยังร้อนอยู่ก็ไม่ต้องอุ่น กินอาหารที่ยังร้อนๆ อยู่ ควรเทอาหารในภาชนะของตัวเองที่สะอาด ใช้จาน/ชามของตัวเอง ไม่ร่วมกับผู้อื่น ถ้าอาหารที่สั่งไม่มีผัก ต้องกินผักแหนม อาหารที่สั่งครบ 4 หมู่ ให้กินผลไม้หวานน้อยตาม และหลังกินเก็บล้างภาชนะให้สะอาดด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image