ย้ำ ‘นายจ้าง’ หยุดกิจการ ต้องแจ้ง ‘เจ้าหน้าที่-ลูกจ้าง’ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน

วันที่ 27 มีนาคม นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงการดูแลลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยนายจ้าง ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งสถานประกอบกิจการบางแห่ง ได้รับผลกระทบจนทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ เป็นเหตุให้ต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนชั่วคราว โดยมีการใช้มาตรา 75 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จึงได้สั่งการให้ กสร.ให้คำแนะนำแก่สถานประกอบกิจการในการดำเนินการตามมาตรา 75 รวมทั้งกำกับดูแลให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ สถานประกอบกิจการที่ใช้มาตรา 75 จะต้องแจ้งพนักงานตรวจแรงงานในพื้นที่ และลูกจ้างทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนเริ่มวันหยุดกิจการไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน

นายอภิญญา กล่าวว่า สำหรับสถานประกอบกิจการที่ให้ลูกจ้างมาทำงานจะต้องจ่ายค่าจ้างตามปกติ และหากนายจ้างตกลงกับลูกจ้างในการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เช่น ลดวันทำงาน ลดค่าจ้าง ก็สามารถทำได้แต่จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วย อย่างไรก็ดี สำหรับการจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างต้องไม่จ่ายต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งนี้ กสร. ขอให้นายจ้าง ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบปรึกษาหารือร่วมกัน และพูดคุยกันด้วยหลักสุจริตใจเพื่อร่วมกันฝ่าฟันวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3

ด้าน ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้สถานประกอบกิจการหลายแห่งต้องเลิกจ้างลูกจ้าง ปิดกิจการ รวมถึง การหยุดกิจการบางส่วนหรือทั้งหมดเป็นการชั่วคราวมาใช้ ซึ่งการหยุดกิจการบางส่วน หรือทั้งหมดเป็นการชั่วคราวนั้น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ให้สิทธินายจ้างสามารถกระทำได้และมุ่งคุ้มครองทั้งนายจ้างและลูกจ้างไปพร้อมกัน ในกรณีที่นายจ้างประสบปัญหามีความจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว แต่ยังมีความประสงค์ประกอบกิจการต่อไป เพื่อแก้ไขวิกฤตดังกล่าวให้คลี่คลายและบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้างในการดำเนินกิจการให้บรรเทาเบาบางลงไป ก่อนกลับมาเปิดดำเนินกิจการตามปกติได้อีกครั้งและยังเป็นการประคับประคองให้นายจ้างสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้โดยไม่จำเป็นต้องปิดกิจการและเลิกจ้างลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างไม่ต้องตกงาน ขาดรายได้และได้รับความเดือดร้อนในช่วงที่หยุดงานเพราะเหตุดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม แม้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ จะให้สิทธินายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ได้ กฎหมายก็ไม่ได้ยอมให้นายจ้างกระทำได้ตามอำเภอใจ จึงได้กำหนดมาตรการเพื่อควบคุมไว้ ดังนี้

-นายจ้างต้องมีเหตุจำเป็นที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ

Advertisement

-นายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่ลูจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง หรือสถานที่อื่นตามที่ตกลงกันและภายในกำหนดเวลาการจ่ายเงินตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือตามที่ตกลงกันกับลูกจ้าง
-นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการชั่วคราวไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ

“หากนายจ้างจำเป็นที่จะต้องหยุดกิจการชั่วคราว นายจ้างจะต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 และต้องแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการชั่วคราวไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ ดังนั้น กสร.รวมทั้งผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน จะเข้าไปดูแลและตรวจสอบการใช้มาตรา 75 ให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้” ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image