อย่าตีตรา! แพทย์ยันสถานที่รองรับผู้ติดเชื้อ ‘โควิด-19’ ไม่เสี่ยงแพร่ระบาดในพื้นที่

ความคืบหน้ากรณีการที่มีประชาชนบางกลุ่มคัดค้านไม่ให้มีการจัดตั้งสถานที่รองรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในพื้นที่ เนื่องจากกลัวว่าจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนนั้น

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยที่มีอายุน้อย อาการจะยิ่งค่อนข้างน้อย โดยเอกสารทางวิชาการพบว่า อาการในเด็กจะเบาและอาการไข้ไม่ถึงครึ่ง ส่วนใหญ่อาการจะหายเร็วกว่าคนที่อายุมาก แต่ในภาพรวมร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อจะมีอาการน้อย และหายได้เองโดยที่ไม่ต้องได้รับยาต้านไวรัส จะมีเพียงร้อยละ 10 ที่มีอาการมากและมีความจำเป็นรับไว้รักษาในโรงพยาบาล (รพ.) โดยขณะนี้ที่มีการรับผู้ป่วยอาการเบาไว้ใน รพ. ไม่ได้เป็นเหตุผลทางการแพทย์ทั้งหมด แต่เพราะต้องการลดการแพร่เชื้อในผู้ที่มีอาการน้อย ทั้งในช่วงเริ่มต้นหรือทยอยแสดงอาการ ดังนั้น สธ.จึงหาสถานที่รองรับผู้ป่วยอาการน้อยไว้ใน รพ. เช่น รพ.ธรรมศาสตร์ รพ.สนามตามต่างจังหวัด รวมถึงผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้วแต่ไม่มีอาการเลย มีโอกาสแพร่เชื้อได้ แต่น้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ที่มีอาการ เนื่องจากเชื้อจะออกมาจากสารคัดหลั่งที่ออกมาจากกับน้ำลาย เช่น ไอ จาม เป็นต้น

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า กรณีของการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ จากข้อมูลพบว่ามี 6 ราย ที่ติดเชื้อจากผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยไม่ให้ประวัติที่ชัดเจน ไม่แน่ใจว่าตนเองไปในพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ จึงทำให้เกิดปัญหา ความเห็นส่วนตัวก็ไม่อยากให้มีการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์เลย ดังนั้นมีเพียง 1 ราย ก็นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงแล้ว ดังนั้นจึงจะต้องเข้มงวดให้บุคลากรทุกคนดูแลสุขภาพตนเองให้ดี ทั้งในขณะปฏิบัติงานและการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อลดความเสี่ยงเหมือนประชาชนทั่วไป

“บุคลากรทางการแพทย์ ไม่ได้ติดแค่ในที่ทำงานแต่ชีวิตหลังเลิกงาน จะต้องออกไปใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งมีโอกาสติดเชื้อได้เช่นกัน” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีการประท้วงหน้าสถานพยาบาลแห่งหนึ่ง ที่ประชาชนกลัวว่าบุคลาการทางการแพทย์จะนำเชื้อไปแพร่ในชุมชน สธ.จะสื่อสารอย่างไรกับประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดความรังเกียจสถานที่รับรองผู้ป่วยติดเชื้อ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องของการตีตราเป็นปัญหาที่ส่งเสริมให้โรคระบาดออกไปได้กว้างขวางมากขึ้น ดังนั้นเปลี่ยนจากการตั้งแง่รังเกียจเป็นการเข้าใจโรคให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล ทางแพทย์ที่ดูแลจะต้องปฏิบัติ คือ 1.ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยติดเชื้อแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นในสถานพยาบาล ด้วยการนำผู้ป่วยเข้าไปในพื้นที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อให้กับบุคคลอื่นๆ ใน รพ. ดังนั้นผู้ป่วยอื่นๆ จะไม่มีความเสี่ยงที่จะพบผู้ป่วยติดเชื้อ และผู้ที่จะเข้าไปในหอผู้ป่วยติดเชื้อได้ก็จะมีเพียงแพทย์และเจ้าหน้าที่เท่านั้น 2.การจัดหอผู้ป่วยและคลินิกโรคไข้หวัด และมีอุปกรณ์ป้องกันตัวให้แพทย์ที่ทำการดูแลผู้ป่วย ดังนั้น สถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน ไม่มีโอกาสที่เชื้อจะแพร่ออกมานอกสถานพยาบาล รวมถึงการขยะติดเชื้อก็จะถูกกำจัดอย่างถูกต้อง ดังนั้นผู้ที่ออกมาจาก รพ.คือผู้ที่ไม่เสี่ยง และมีการเข้มงวดในการดูแล เนื่องจากเข้าใจว่าประชาชนมีความกังวล

“ดังนั้นบุคคลที่ออกมาจาก รพ.หรืออยู่ในพื้นที่เดียวกันกับสถานพยาบาล ไม่ได้เป็นบุคลากรที่จะสร้างความเสี่ยงเพิ่มขึ้นให้กับพื้นที่โดยรอบใดๆ เลย นอกจากจะทำให้เข้าใจแล้ว ก็อยากจะให้ตั้งสติ เพราะหากกลัวจนเกินกว่าเหตุ ก็จะมีการตั้งแง่รังเกียจกันไปเรื่อยๆ และไม่อยากเห็นภาพว่าคนในพื้นที่รังเกียจแพทย์ พยาบาล มันไม่ควรเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น เนื่องจากเขาเข้าไปทำหน้าที่ดูแลคนไทยด้วยกัน และมีการป้องกันตัวเอง และหากมีผู้ที่ปฏิบัติขั้นตอนผิดพลาดก็จะมีการกักกันตนเอง เนื่องจากเป็นผู้ที่เสี่ยงเช่นกัน แต่อย่าให้ความกังวลมาเป็นกำแพง ที่ทำให้เราดูแลคนไข้ได้ยากขึ้น ขอให้ใช้ชีวิตช่วงนี้อย่างมีสติและมีปัญญา พิจารณาเรื่องพวกนี้ให้ผ่านไปได้อย่างไม่บอบช้ำจนเกินไปและสังคมไม่แตกแยกกันมากนัก” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image