สธ.ยัน “ชายดับบนรถไฟ” ไม่ใช่เหตุจาก “โควิด-19” แต่เพราะโรคประจำตัว

สธ.ยัน “ชายดับบนรถไฟ” ไม่ใช่เหตุจาก “โควิด-19” แต่เพราะโรคประจำตัว

โควิด-19 เมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองควบคุมโรค รศ.พิเศษ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษาโรมควบคุมโรค ร่วมชี้แจงกรณีการเพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 อย่างเข้มข้นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ

นพ.โสภณ กล่าวว่า ผู้เดินทางที่จะเข้าประเทศไทยขณะนี้ จะต้องมีการกักกันตนเองอยู่ประเทศต้นทางให้ครบ 14 วัน พร้อมทั้งคัดกรองก่อนขึ้นเครื่องบิน หากเป็นผู้ป่วยให้รักษาให้หายก่อนเดินทาง เนื่องจากมีความเสี่ยงว่าอาการจะรุนแรงในระยะที่เดินทาง ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่จะเดินทางกลับประเทศไทยในทุกประเทศจะต้องลงทะเบียนที่สถานทูต เพื่อระบุวันที่เดินทางที่ชัดเจนและเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับชายไทยที่กลับจากปากีสถาน ซึ่งผ่านการคัดกรองที่สนามบินสุวรรณภูมิ และต่อมาเสียชีวิตบนรถไฟโดยตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 นั้น คือผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ หากผู้เดินทางให้ข้อมูลความเป็นจริงในอาการป่วยก็จะทำให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว

Advertisement

“รายนี้ที่ผ่านการคัดกรองที่สนามบินได้ เนื่องจากมีอุณหภูมิร่างกาย 35.1 เซสเซียส และเป็นการเสียชีวิตฉับพลัน ดังนั้นในรายนี้จะไม่ใช่การเสียชีวิตจากโควิด-19 อย่างฉับพลัน เนื่องจาก 1.ไม่มีไข้ 2.อาการไม่มาก ยังสามารถเดินไปซื้อตั๋วรถไฟได้ แต่ในระหว่างที่ไปถึง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก็พบว่าเสียชีวิตแล้ว ดังนั้น ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีอาการเหนื่อยหอบตลอดทางจนกระทั่งเสียชีวิต” นพ.โสภณ กล่าว

ด้าน รศ.พิเศษ นพ.ทวี กล่าวว่า ในระยะ 3 เดือน พบข้อมูลผู้ป่วยอย่างมาก ในเรื่องของไข้ เมื่อดูผู้ป่วยในระยะแรกจะร้อยละ 50 มีที่ไข้เกิน 37.5 และอีกร้อยละ 50 จะไม่มีไข้ แต่เมื่อเข้าวันที่ 3 ร้อยละ 90 จะเริ่มมีไข้ ดังนั้น หากมีอาการของโรคมาก ก็จะตรวจจับไข้ได้ อาการไอ จาม ก็จะชัดเจนมากขึ้น

“แต่สำหรับรายนี้ จากการตรวจพบว่าผู้ป่วยมีเชื้อไวรัสโคโรนาปริมาณมาก แต่ผ่านการคัดกรองเมื่อเดินทางด้วยเครื่องบิน จึงแสดงว่าระยะนั้น ไม่มีไข้ และหลังจากนั้น มีอาการป่วยในขณะที่ซื้อตั๋ว และเดินทางโดยรถไฟ ดูจากคลิปวิดีโอพบว่า มีอาการไอเล็กน้อย และระหว่างเดินทางเริ่มอาเจียน เหนื่อยนิดหน่อย ซึ่งเป็นตัวบอกว่าไม่น่าจะเกิดจากโรคที่เกี่ยวกับปอด เพราะถ้าโรคเกี่ยวกับปอดจะเหนื่อย หอบมาก ไม่สามารถเดินไปไหนได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว คือ หัวใจ และเบาหวานชนิดที่ต้องฉีดอินซูลิน ซึ่งกรณีนี้หากควบคุมไม่ดีจะทำให้อาการสวิง ดังนั้น การที่คนไข้เสียชีวิตเฉียบพลันจึงน่าจะมาจากโรคประจำตัวมากกว่า” รศ.พิเศษ นพ.ทวี กล่าว

นอกจากนี้ รศ.พิเศษ นพ.ทวี กล่าวว่า กรณีมีการตั้งคำถามว่า มีบุคคลากรบางส่วนต้องใช้ชุดกันฝนมาปฏิบัติหน้าที่ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความปลอดภัยหรือไม่นั้น จริงๆแล้ว เมื่อครั้งที่มีการระบาดของไข้หวัดนก บุคลากรสาธารณสุขก็เอาชุดกันฝนมาใช้ ซึ่งก็สามารถป้องกันได้เช่นกัน เนื่องจากสามารถกันน้ำฝนได้ ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่ชุดมาตรฐาน แต่ก็สามารถกันได้ ทั้งนี้ ในการปฏิบัติงาน สิ่งสำคัญที่สุดคือหน้ากาก N95 รองลงมาคืออุปกรณ์ป้องกันใบหน้า (face shield) ส่วนชุดป้องกัน PPE ก็มีความสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้ว ก็จะต้องมีการออกมาชำระล้างกายด้วยการอาบน้ำ ดังนั้น สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือหน้ากาก N95 ทั่วโลกรวมถึงไทยมีความต้องการสูง ของที่มีจะไม่เพียงพอ ขณะนี้จึงมีการศึกษานำหน้ากาก N95 กลับมาใช้ซ้ำ ภายในสัปดาห์หน้าจะมีข้อสรุปเรื่องนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image