‘ปตท.สผ.’ ย้ำเดินหน้าตามแผนปี 63 พร้อมปรับตัวรับมือความท้าทายจากโควิด-19

{"source_sid":"7CD8856F-73F4-4C98-B2EE-FAFDE0FD26FB_1585823309169","subsource":"done_button","uid":"7CD8856F-73F4-4C98-B2EE-FAFDE0FD26FB_1585823309158","source":"other","origin":"gallery"}

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วกว่า 60% ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปตท.สผ. ประเมินว่า ปริมาณการขายในปี 2563 อาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยยะ โดยปริมาณการขายที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 388,000 บาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน คาดว่าจะต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ไม่เกิน 5% เนื่องจากปริมาณการขายของบริษัทกว่า 70% เป็นก๊าซธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่มีการกำหนดปริมาณรับซื้อขั้นต่ำไว้แล้วตามสัญญา ด้านราคาขายซึ่งประกอบด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ส่วนของน้ำมันดิบซึ่งมีปริมาณการขายประมาณ 30% ของปริมาณการขายทั้งหมด อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งบริษัทได้มีการทำสัญญาประกันความเสี่ยงด้านราคาไว้แล้วบางส่วน สำหรับราคาขายก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลัก  ปตท.สผ. ได้กำหนดราคาขายในหลายโครงการกับคู่สัญญาไว้แล้ว ซึ่งหากราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง อาจจะส่งผลกระทบกับบริษัทในระยะต่อไป

นายพงศธรกล่าวว่า ยอมรับว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งบริษัทฯ มีแผนการบริหารจัดการภาวะวิกฤตและบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ เพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่ายังคงสามารถผลิตปิโตรเลียมให้กับประเทศได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสดังกล่าวในทุกพื้นที่ปฏิบัติการ โดยที่สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ มีมาตรการให้พนักงานทำงานจากที่พักอาศัยส่วนในต่างประเทศ ต่างจังหวัด และนอกชายฝั่ง ได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อความปลอดภัยในแต่ละพื้นที่อย่างเคร่งครัดรวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทเช่นกัน โดยได้เลื่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ออกไป เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่ต่าง แต่ยังคงจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้กับผู้ถือหุ้นตามกำหนดเดิม ไม่ให้กระทบต่อสิทธิผู้ถือหุ้นในการรับเงินปันผล

นายพงศธรกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้ให้การสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ที่จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส อาทิมอบหน้ากากอนามัยแบบผ้าให้กับเขตจตุจักร นำไปส่งต่อให้กับประชาชน มอบแอลกอฮอล์ให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำไปผลิตเจลล้างมือแจกจ่ายประชาชนทั่วไป รวมถึงยังให้การสนับสนุนสถาบันการศึกษาและโรงพยาบาลต่างๆ ในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่จะช่วยยับยั้งและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาทิ ชุดตรวจคัดกรองความเสี่ยงโควิด-19 ชุดตรวจวินิจฉัยไวรัสโควิด-19 เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ รวมทั้ง รถพยาบาลและเครื่องช่วยหายใจ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยป้องกันไวรัสโคโรนา-19 ในส่วนของแผนการดำเนินงานในโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และโครงการ G2/61 (แหล่งบงกช) นั้น ยังคงดำเนินการแผนเดิมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้รวมกัน 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตที่มีไว้กับรัฐบาลในปี 2565-2566

จุดแข็งที่สำคัญของบริษัทฯ คือ มีโครงสร้างต้นทุนในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ทำการปรับตัวในช่วงที่ธุรกิจน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเผชิญกับวิกฤตราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่โครงการหลักอยู่ในไทย มาเลเซีย เมียนมา และตะวันออกกลาง ซึ่งถือว่ามีต้นทุนการผลิตที่ต่ำเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นของโลก ทำให้บริษัทยังคงรักษาความแข็งแกร่งของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานไว้ได้ ประกอบกับสถานะการเงินของบริษัทในปัจจุบันที่ยังมีความมั่นคง จึงมั่นใจว่าจะสามารถรองรับความผันผวนของราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นเตรียมการรับมือกับราคาน้ำมันที่อาจจะอยู่ในระดับต่ำในระยะยาว บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับแผนการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง เช่น การบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด การเลื่อนแผนการเจาะสำรวจในบางโครงการออกไป เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญที่เราคำนึงถึงเสมอคือต้องไม่กระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต รวมถึงความต้องการใช้พลังงานของประเทศด้วยนายพงศธรกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image