สธ.ออกประกาศให้ รพ.เอกชน ตั้ง “ฮอทปิเทล” รองรับผู้ป่วยโควิด-19

สธ.ออกประกาศให้ รพ.เอกชน ตั้ง “ฮอทปิเทล” รองรับผู้ป่วยโควิด-19

โควิด-19 เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยระหว่างแถลงความคืบหน้าของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19
ว่า สบส.เสนอให้ประกาศว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน เพื่อเป็นการระดมทรัพยากรทั้งหมดที่มีในประเทศ โดยเฉพาะภาครัฐและเอกชนเข้ามาช่วยกันดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้สิทธิ์เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลใดก็ได้ แต่ข้อกำหนดคือ 1.หากเป็นชาวต่างชาติจะต้องใช้สิทธิ์ประกันสุขภาพของตนเองที่มีอยู่ 2.คนไทยหากมีประกันสุขภาพส่วนบุคคลให้ใช้สิทธิ์ประกันส่วนบุคคลก่อน 3.คนไทยไม่มีประกันสุขภาพส่วนตัว จะมี 3 กองทุนในการรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนรักษาพยาบาลประกันสังคม และกองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ โดยรวมของประกาศนี้ส่งผลให้ประชาชนที่ป่วยโควิด-19 ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคและการรักษาผู้ป่วยใน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ขณะนี้ ได้ออกหลักเกณฑ์เงื่อนไขเรื่องค่าใช้จ่ายเรียบร้อยแล้วซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจและให้บริการกับประชาชนมากขึ้น หลักการคือ ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นเคลียริ่งเฮ้าส์ ในการเบิกจ่าย โดยขณะนี้จำนวนเตียงที่รองรับผู้ป่วยมีการดึงมาจากโรงพยาบาล (รพ.) เอกชน ร่วมกับ รพ.แพทย์ รพ.กรมการแพทย์ รพ. สังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีจำนวน 631 เตียง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วย จำนวน 378 ราย คิดเป็นร้อยละ 38 อยู่ในสถานพยาบาลเอกชน จึงอยากให้มั่นใจเรื่องของเตียงในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

นอกจากนี้ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ในวันนี้มีการออกประกาศสถานพยาบาล คือ “สถานพยาบาลอื่นที่ได้รับการยกเว้น” หรือ โรงพยาบาลสนาม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป กล่าวคือ รพ.สนามที่ดำเนินการโดยสถานพยาบาลสังกัดเอกชน ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่รองรับผู้ป่วยโดยเร็วในการรักษาโรคโควิด-19 โดยเฉพาะ โดยมีผู้ที่สนใจเข้ามายื่นขอจัดตั้งอยู่ 2 แห่ง แห่งละประมาณ 60 เตียง รวมถึง สบส.ได้ดำเนินการเปลี่ยนโรงแรมเป็นโรงพยาบาล ใช้ชื่อว่า ฮอทปิเทล (Hospitel) เพื่อรองรับผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อที่รักษาอยู่ในสถานพยาบาลอย่างน้อย 7 วัน ด้วยอาการน้อยและคงที่ ซึ่งมีสูงถึงร้อยละ 80 และย้ายมาอยู่ในฮอทปิเทล โดยหลักการของ สบส. มีการตรวจสอบมาตรฐาน 5 ด้าน ได้แก่ 1.จะต้องมีแพทย์ 1 คนต่อ 30 เตียง 2.จะต้องมีพยาบาลดูแล ทั้งนี้เป็นการขยายเตียงใน รพ.ด้วยการย้ายคนไข้ที่ไม่จำเป็นออกมา รวมถึงมีการจัดเตรียม รพ.สนามที่ใช้สังเกตอาการของผู้เข้าข่ายเฝ้าระวัง 14 วัน (Hotel Isolation)

“ขณะนี้มีโรงแรมใน 24 จังหวัด จำนวน100 กว่าแห่ง สมัครใจเข้ามาร่วม คิดเป็นประมาณ 16,000 เตียง ในจำนวนนี้มีกรุงเทพฯ 1 หมื่นเตียง ขนาดนี้มีโรงแรมประมาณ 3 แห่ง รวมประมาณ 800 เตียง ที่พร้อมให้คนไข้เข้ามาพักได้” นพ.ธเรศ กล่าว

Advertisement

ส่วนกรณีที่มีผู้เข้าข่ายการสอบสวนโรคและไปตรวจหาเชื้อที่ รพ.เอกชน แต่จะต้องเสียค่าใช้จ่าย 6,500 บาท นพ.ธเรศ กล่าว ผู้ป่วยรายนี้มีผลตรวจออกมาเป็นบวก โดยหลักการประกาศข้างต้นจะมีผลบังคับใช้ย้อนหลังไปจนถึงวันที่ 5 มีนาคม ดังนั้นจะต้องไปดูประวัติผู้เข้าข่ายการสอบสวนโรคเพื่อตรวจสอบ ก็สามารถเรียกเงินคืนได้ และคาดว่าทางสถานพยาบาลจะยินดีคืนให้ และในขนาดนี้กรมการแพทย์และกรมควบคุมโรคได้วางแนวทางดูแลผู้ป่วยติดเชื้อว่าจะต้องอยู่ในสถานพยาบาล 7 วันก่อนที่จะย้ายออกไปที่ฮอทปิเทล หรือ รพ.สนาม

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ประกาศกระทรวงเรื่องการให้สถานพยาบาลสังกัดเอกชนมีการจัดตั้ง รพ.สนามและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จะมีเกณฑ์มาตรฐานเฉพาะแต่มีสิ่งยกเว้น เช่น การขออนุญาต เนื่องจากต้องใช้เวลานาน ยกเว้นการชำระค่าทำเนียม ยกเว้นการขออนุมัติแบบตามกฎกระทรวงในการจัดตั้งสถานพยาบาลซึ่งจะต้องใช้เวลาหลายเดือน

“แต่มีการกำหนดมาตรฐานของสถานที่ว่าจะต้องเป็นอย่างไร มาตรฐานผู้ให้บริการ เครื่องมือจะต้องเป็นอย่างไร พร้อมทั้งจะมีการมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบตามหลักการของสาธารณสุข เป็นการประเมินโดยเร็วเพื่อให้เป็นประโยชน์กับประเทศมากที่สุด เนื่องจากเป็น 1.เป็นการจัดตั้ง รพ.ชั่วคราว 2.เป็นแค่สถานการณ์โควิด-19 แต่เมื่อจบไปแล้ว รพ.ก็จะต้องปฏิบัติตามให้เป็นขั้นตอนตามสถานพยาบาลต่อไป” นพ.ธเรศ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image