สธ.ชี้ ไทยป่วยไข้หวัดวันละกว่าแสนราย แต่มีโอกาส ติด “โควิด-19” ไม่สูงมาก

สธ.ชี้ ไทยป่วยไข้หวัดวันละกว่าแสนราย แต่มีโอกาสติด “โควิด-19” ไม่สูงมาก

โควิด-19 เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรคแถลงชี้แจงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ว่า ในวันนี้พบผู้ป่วยยืนยัน รายใหม่ 103 ราย สะสม 1,978 ราย และมีผู้ป่วย กลับบ้านได้เพิ่ม 70 ราย สะสม 581 ราย และเสียชีวิต เพิ่ม 4 ราย สะสม 19 ราย เมื่อดูจากปัจจัยเสี่ยงที่ทำการสอบสวนโรคได้จะพบว่าร้อยละ 50 มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยรายที่เคยมีการสอบสวนโรคไปก่อนหน้านี้แล้ว และร้อยละ 50 เป็น ผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่งตรวจพบ ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มใหม่อยู่ประมาณ 100 รายต่อวัน ในจำนวนเหล่านี้ เป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้ามาป่วยในประเทศ ซึ่งพบประมาณวันละ 15 ราย แต่มีการพบว่า คนไทยที่ติดเชื้อในประเทศวันละประมาณ 80-90 ราย ส่วนพื้นที่ที่ยังพบผู้ป่วย แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ 1.กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งในวันนี้มีรายงานผู้ป่วยกลุ่มนี้ จำนวน 58 ราย ได้แก่ กรุงเทพฯ มี 47 ราย จ.นนทบุรี 5 ราย จ.สมุทรปราการ 5 ราย จ.ปทุมธานี 1 ราย 2.จังหวัดท่องเที่ยวใหญ่ เช่น จ.ภูเก็ต จ.ชลบุรี ในวันนี้มีการรายงานผู้ป่วยกลุ่มนี้จำนวน 16 ราย 3.พื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีผลกระทบจากผู้ที่เดินทางไปประกอบศาสนกิจในต่างประเทศที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย ในวันนี้ มีผู้ป่วยรายใหม่ 12 ราย และ 4.จังหวัดอื่นๆ อีก 5 จังหวัด

นอกจากนี้ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศไทยคงที่ จำนวนผู้ป่วยไม่เพิ่มขึ้นและเฉลี่ยอยู่ที่ 100 คนต่อวัน หากทำ 2 มาตรการ ที่สำคัญได้ คือ 1.ขอความร่วมมือให้ผู้ป่วยหากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ปอดอักเสบให้พบแพทย์และจะทำการสอบสวนโรค พยายามตรวจหาผู้สัมผัสใกล้ชิดให้ได้มากที่สุดและตามให้ได้อย่างดีที่สุด เพื่อตัดวงจร ก่อนการแพร่ระบาด ซึ่งเป็นมาตรการทางสาธารณสุข และ 2.การเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งเป็นมาตรการที่หลายจังหวัดมีการประกาศ เพื่อกระตุ้นและเพิ่มความเข้มข้นให้เต็มที่ที่สุดเท่าที่จะทำได้

“2 มาตรการนี้ ต้องดำเนินการไปคู่กัน ทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งประสิทธิภาพจะไม่ดีเท่าที่ควร ในระยะนี้จึงอยากเรียนให้ประชาชนทราบว่ามีมาตรการต่างๆ เหล่านี้” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

สำหรับกรณีผู้ป่วยที่เสียชีวิตในวันนี้ มีประวัติว่าตรวจในสถานพยาบาลครั้งแรกและไม่ได้มีการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เนื่องจากแพทย์ระบุว่าไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า คิดว่าแพทย์ทำถูกตามมาตรฐานการรักษา เนื่องจากมาตรฐานในการวินิจฉัยผู้ป่วย คือ 1.หากผู้ป่วยมีเพียงอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนบนจะต้องมีประวัติเสี่ยงร่วมด้วยจึงจะทำการตรวจหาเชื้อได้ เนื่องจากในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจส่วนบน (ไข้หวัด) วันละกว่า 100,000 ราย หากจะต้องตรวจทุกคนในทุกวันก็คงจะตรวจไม่ครบ 2.สำหรับกรณีผู้เสียชีวิตรายนี้ คาดว่าหลังจากที่ผู้ป่วยมีอาการแล้วไปพบแพทย์ เชื่อว่าแพทย์จะระบุว่าหากมีอาการที่ไม่ดีขึ้นจะต้องรีบกลับมาพบแพทย์จึงปล่อยให้กลับบ้านไปทำงานต่อได้ ซึ่งจุดนี้เป็นข้อสังเกตสำคัญว่า หากมีอาการไข้ หายใจเร็ว หอบเหนื่อย ซึ่งเป็นอาการของปอดอักเสบให้รีบกลับมาพบแพทย์ทันที ซึ่งในขณะนี้นิยามการตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อ คือ ผู้ที่มีอาการปอดอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุ จะต้องตรวจหาเชื้อทุกรายโดยไม่ต้องดูประวัติเสี่ยง

Advertisement

“ตรงนี้ยืนยันว่าแพทย์ทำถูกแล้ว แต่หากคนไข้เริ่มมีอาการปอดอักเสบแล้วกลับไปที่สถานพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง แพทย์จะต้องทำการตรวจ จึงอยากจะเรียนว่าผู้ที่เป็นหวัดหรือมีแค่อาการไข้หวัดอย่าได้วิตกกังวล เนื่องจากเรามีจำนวนผู้ป่วยลักษณะนี้มากในแต่ละวันและโอกาสติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ได้สูงมาก หากเราไม่ได้มีประวัติเสี่ยงทำใจให้สบาย แต่ถ้ามีอาการปอดอักเสบจะต้องรีบไปพบแพทย์” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า กรณีที่ประชาชนเป็นห่วงในเรื่องของช่วงที่มีพายุฤดูร้อน ว่าจะทำให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มากขึ้น ข้อเท็จจริงในส่วนของการควบคุมโรค เรื่องของฤดูไม่ได้มีผลกระทบสักเท่าไร ในช่วงขาขึ้นของโรคไม่ว่าฤดูไหนก็ตาม โรคสามารถแพร่ระบาดไปได้ค่อนข้างเร็ว

Advertisement

“จึงอยากจะเรียนว่าสิ่งที่เราต้องระมัดระวัง คือ เรื่องเดิมๆ ไม่ได้แปลว่าเข้าฤดูฝนแล้วเราจะต้องทำอะไรมากกว่าหรือแตกต่างจากช่วงเดิม นั้นคือ หากไม่จำเป็นอย่าออกจากบ้าน ให้ถามตัวเองก่อนว่าสิ่งที่ออกไปมันจำเป็นหรือเปล่า ถ้ามันจำเป็นต้องไปก็ไป แต่ถ้าไม่จำเป็นก็อยู่บ้านดีกว่า และหากจะต้องออกไปข้างนอกจะ ต้องหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด สถานที่มีคนไอ จาม อยู่ห่างกับผู้คนอย่างน้อย 2 เมตร สวมใส่หน้ากากผ้าเพื่อป้องกัน ล้างมือให้บ่อย อย่าเอามือไปโดนบริเวณใบหน้า รับประทานอาหารร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว และเพิ่มเติมคือ ตรวจสอบข่าวสถานการณ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้และฟังข่าวแล้วอย่างพอเหมาะ เพื่อนำมาปฏิบัติตัวแต่อย่าให้เกิดความกังวลมากจนเกินไป” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ที่มีกรณีข่าวว่าสถานพยาบาลเก็บเครื่องช่วยหายใจไว้ให้สำหรับผู้ป่วยวีไอพี
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ทุกประเทศจะมีอุปกรณ์เพียงพอต่อสถานการณ์ปกติและมีสำรองไว้ในยามฉุกเฉินที่มีผู้ป่วยมากกว่าปกติเล็กน้อย ขณะนี้ กำลังบริหารจัดการทรัพยากรอย่างดีที่สุดเพื่อรองรับกับการเจ็บป่วยของคนไทยและให้เข้าถึงการรักษา

“ไม่มีการแยกว่าใครเป็นอย่างไร สธ.และวงการแพทย์ทุกคนเหมือนกันและไม่ได้มีการแบ่งชั้นกันว่าคนระดับใดจะทำอย่างไร เราดูแลทุกคนในลักษณะที่เป็นไปตามความเสี่ยง ลักษณะของความจำเป็น ยืนยันว่าเป็นเรื่องมาตรฐานของวิชาชีพ เราไม่ปล่อยให้พวกนี้เกิดขึ้น อยากให้ความมั่นใจกับคนไทยทั้งหมดว่าแพทย์ของเราไม่ได้ตัดสินคนด้วยเรื่องพวกนี้” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

เมื่อถามว่า กรณีผู้เดินทางกลับจากประเทศอินโดฯ และนักเรียนที่จะกลับมาจาก ASF ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยจะกลับมาวันที่ 6 เมษายน จะมีการคัดกรองและจัดสถาน ที่กักกันอย่างไร นพ.ธเรศ กล่าวว่า ข้อมูลนี้ได้รับการประสานจากกระทรวงกลาโหมให้นำฮอทปิเทล ที่เตรียมไว้จำนวน 290 ห้อง เมื่อวันที่ 2 เมษายน ได้เดินทางไปดูพื้นที่แล้ว พร้อมทั้งวันนี้มีการซักซ้อมในการนำคนเข้าสู่ห้อง การผู้แลผู้ที่ต้องกักกันในระยะเวลา 14 วัน โดยสรุปมีการเตรียมพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและเตรียมกระบวนการดูแล ร่วมกับทางโรงแรมแล้ว แต่จัดต้องรอกระบวนการให้เสร็จเรียบร้อย จึงจะมีการแจ้งระบุพื้นที่ที่ชัดเจน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image