ผอ.รพ.สมุทรปราการ เผยบทเรียนถูกกักตัว ก่อนผลตรวจยัน ไม่มีการติดเชื้อโควิด-19

จากกรณี นพ.นำพล แดนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรปราการ เป็นข่าวว่าติดเชื้อ “โควิด-19” ในช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2563 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการวิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ยืนยันว่าผลการตรวจด้วย PCR จากห้องแล็บของกาชาด ถือว่าไม่ได้มีการติดเชื้อแต่อย่างใด นพ.นำพล เปิดเผยถึงบทเรียนจากการตกเป็นข่าวในครั้งนี้ว่า เหตุการณ์นี้ทำให้ชีวิตตัวเองยากลำบาก รู้สึกว่าเป็นกรรมเก่าไปกับความรู้สึกว่า สิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีเสมอ และจากประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้เข้าใจวิธีคิดคนที่เป็นโรคนี้มากขึ้น พร้อมทั้งจะขอลำดับเหตุการณ์อีกครั้งหนึ่ง ดังนี้

ในช่วงวันที่ 11-13 มี.ค. มีอาการไอ มีน้ำมูก คิดว่ามีโอกาสจะติดเชื้อจึงได้ตรวจว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ ในวันที่ 12 มี.ค. ได้ไปขอตรวจที่โรงพยาบาลบางพลี จ.สมุทรปราการ ตอนแรกเจ้าหน้าที่ไม่ให้ตรวจเพราะเห็นว่าไม่มีภาวะเสี่ยง ต่อมาในตอนบ่ายจึงได้รับการตรวจ ผลตรวจด้วย PCR realtime (พีซีอาร์ เรียลไทม์) ออกมาเป็นเนกาทีฟ ซึ่งการตรวจแบบนี้มีความผิดพลาดน้อยมาก

ต่อมาในวันที่ 16 มี.ค. เดินทางมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรปราการ โดยความตั้งใจแรกต้องการมาแบบหิ้วกระเป๋าใบเดียวมารับตำแหน่ง แต่ก็มีบุคลากรจากโรงพยาบาลเดิมบางส่วนมาส่งและมีการต้อนรับที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ จากนั้นรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ช่วงบ่ายเริ่มประชุมทีมบริหาร ตกเย็นจึงตรวจเยี่ยมให้กำลังใจแพทย์และพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ใน รพ.สมุทรปราการ 5 ราย

ระหว่างวันที่ 17-22 มี.ค. ได้ประชุมและทำงานที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ ตรวจเยี่ยมวอร์ดโควิด-19 และเตรียมทำ โคฮอร์ท วอร์ด เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 บางวันไปร่วมประชุมกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ

Advertisement

ต่อมา ในวันที่ 23 มี.ค. ได้พบแพทย์เพื่อตรวจโควิด-19 เป็นครั้งที่ 2 ทราบผลว่าติดเชื้อ ในวันที่ 25 มี.ค. ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถี ด้วยความที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลทำให้ต้องเดินผ่านพื้นที่ต่างๆ ของโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยอยู่ เช่น แผนกผู้ป่วยนอก ซึ่งอาจจะแตกต่างจากผู้บริหารที่ทำงานในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ในแง่ของการมีโอกาสการติดเชื้อจากการทำงาน

“ระหว่างที่เข้ารับการรักษานั้น ได้อยู่ในห้องเฉพาะคล้ายกับห้องพิเศษตามโรงพยาบาล แต่มีการปรับสภาพและเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาดูแลต้องสวมใส่ชุดป้องกันอย่างเต็มที่ ในขณะที่นอนโรงพยาบาล ผมก็คิดว่าเราต้องแข็งแรงเพื่อต่อสู้กับโรคให้ได้ นอกจากได้รับยาต้านแบคทีเรียเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ ตามที่แพทย์สั่งให้แล้ว ก็พยายามออกกำลังกายเท่าที่ทำได้ภายในห้องพัก แม้จะมีความรู้สึกอึดอัดที่ต้องอยู่ภายในห้องสี่เหลี่ยมที่ไม่สามารถแม้กระทั่งจะเปิดประตูไปรับอากาศภายนอก”

เมื่อเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถี ได้มีการตรวจเสมหะ ตรวจปอด จนสุดท้ายผลการตรวจออกมาเป็นลบ จึงออกมากักตัวต่อที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ ต่อให้ครบ 1 เดือน ตลอดระยะเวลาที่มีข่าวที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับตนออกมาอย่างมากนั้น ปรากฏว่าผลตรวจของบุคคลที่เคยสัมผัสใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในครอบครัวและอยู่ร่วมเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งที่สมุทรปราการและที่ปราจีนบุรีกว่า 100 คน ผลตรวจโควิดออกมาเป็นลบ จึงเริ่มมีความสงสัยว่าจะเป็นจริงหรือไม่ ประกอบกับมีอาการหวัดเพียงเล็กน้อย

Advertisement

“บทเรียนจากการป่วยโรคโควิด-19 ครั้งนี้ สามารถสรุปได้ใน 2 ส่วน ส่วนแรกคือกระบวนการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค อีกส่วนหนึ่งคือประสบการณ์ในฐานะผู้ป่วย”

ก่อนหน้านี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขตั้งเกณฑ์ว่า ผลการตรวจจากแล็บ 2 แห่งต้องตรงกันก่อนที่จะบอกว่าคนไข้ติดเชื้อโควิด ต่อมาใช้ผลจากแล็บเดียว ในกรณีของตนนั้นได้คุยกับแพทย์ที่ให้การรักษาและ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ได้ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว จนนำไปสู่ข้อสรุปว่าตนไม่เป็นโรคโควิด-19

สุดท้าย อยากฝากไปยังการทำงานของสื่อมวลชนที่ควรตรวจสอบข้อเท็จจริงในการทำงาน เพราะจากข่าวที่ออกมาในช่วงแรกนั้นส่งผลกระทบต่อหลายส่วน ไม่เพียงต่อชีวิตของตน ลูกๆ และภรรยา แต่ยังรวมไปถึงชื่อเสียงของโรงพยาบาลที่ตนทำงานและเคยทำงานด้วย.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image