รอง ผวจ.ตรัง ออกโรงแจงเหตุไม่ “ปิดเมือง” เตรียมถกสถานการณ์ “โควิด-19” 8 เม.ย.นี้

รองผวจ.ตรัง ออกโรงแจงหลังมีเสียงเรียกร้อง “ปิดเมือง” ยันต้องวิเคราะห์สถานการณ์ เตรียมประชุมคณะกรรมการฯ 8 เมษายนนี้

หลังจากที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนเรียกร้องให้จังหวัดตรังปิดเมือง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 และโดยที่จังหวัดใกล้เคียง อาทิ พัทลัง สตูล สงขลา ปิดไปแล้วนั้น

ตรัง- ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 เมษายน นายขจรศักดิ์ เจริญสิริโสภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้ชี้แจงว่าที่ หลายคนเรียกร้องว่าให้ปิดเมือง หรือล็อกดาวน์  สำหรับการออกมาตรการของจังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลาปิดเมืองนั้น ประเด็นนี้ทางจังหวัดจะนำประชุมคณะกรรมการควบคุมโรค พื้นฐานของการวิเคราะห์ในสถานการณ์เป็นองค์ประกอบหลัก

“เบื้องต้นในจังหวัดที่ปิดอย่าง ภูเก็ต สงขลา พัทลุง หรือสตูล เนื่องจากเป็นสถานการณ์คนในพื้นที่ติดโรคเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าตกใจ อย่างภูเก็ตทะลุไป 100 กว่า สงขลาประมาณ 37 ราย พัทลุง 10 แต่ของตรัง 6 เพราะฉะนั้นสถานการณ์ที่เรียกว่าปิดเมืองหรือไม่ คิดว่าในการปฏิบัติจังหวัดตรังมีขั้นตอนในการทำอยู่แล้ว” นายขจรศักดิ์ กล่าว

Advertisement

นายขจรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทางจังหวัดตรังเอาสถานการณ์ของจังหวัดเป็นตัวตั้งในการวิเคราะห์แนวโน้ม รวมถึงผู้ที่อยู่ในข่ายสงสัยที่จะต้องติดเชื้อ หรือในประเด็นต่างๆ ที่จะต้องประชุมกันว่าจะมีมาตรการปิดเมืองหรือเปล่า ในวันที่ 8 เมษายนนี้ จะมีการประชุม ให้ทุกคนช่วยดูสถานการณ์ว่าแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร

“รวมถึงข้อมูลที่จะประชุมในวันที่ 8 เมษายน หากถึงจุดที่จะต้องปิด ปิดก็คือปิด ไม่ได้มีอะไร เพราะว่าในมาตรการที่ได้นำเรียน คือ แค่ห้ามบุคคลเข้าออกในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ เข้า-ออกได้ จะต้องมีหนังสือรับรองจากเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็เหมือนกับเคอร์ฟิว ก็มีข้อยกเว้นว่าเข้า ออกได้ก็ประเภท บุคลากรทางการแพทย์ แพทย์ เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่โดยตรง การขนส่งสินค้าที่จำเป็น อุปโภค บริโภค ส่วนข้าราชการก็ต้องมีหนังสือรับรองในการเดินทางจากผู้บังคับบัญชาเป็นกรณีไป” นายขจรศักดิ์ กล่าว

นายขจรศักดิ์ กล่าวอีกว่า กรณีการปิดห้างสรรพสินค้า นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง​ ได้เชิญผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ามาพูดคุยแล้ว และจะนำเสนอในวันที่ 8 เมษายน  ดูแนวโน้มในหลักการไปสอดรับกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ห้างสรรพสินค้าอาจจะต้องมีบางส่วนที่จะต้องปิดไป ที่ไม่ใช่ร้านยา หรือร้านอาหาร ที่ไม่จำเป็น เป็นข้อมูลที่ทางห้างสรรพสินค้ารวบรวมมานำเสนอในที่ประชุมวันที่ 8 เมษายน รวมทั้งการปิดโรงแรม นั้นหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานเชิญผู้ประกอบการโรงแรมมาพูดคุยในเรื่องผลกระทบ

Advertisement

“ขอชี้แจงว่าในหลักการถ้าเกิดโรงแรมที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่วนใหญ่จะเป็นทางอ้อมอยู่ เนื่องจากมีการปิดแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ปิดในเรื่องของการเดินทางทางเครื่องบินทำให้นักท่องเที่ยวไม่มา เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการด้านโรงแรมก็ได้รับผลกระทบ จังหวัดตรังจึงยังไม่ประกาศปิดโรงแรม อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว จะรวบรวมข้อมูลมานำเสนอให้ผู้ว่าราชการพิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยทางคณะกรรมการฯ จะพิจารณาว่าปิดแบบไหน ปิดอย่างไร ปิดตามสถานการณ์ที่จังหวัดจะช่วยเหลือผู้ประกอบการ ช่วยเหลือลูกจ้างได้อย่างไร” นายขจรศักดิ์ กล่าว

นายขจรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์ต่าง การทำงานของจังหวัดไปต่างๆ นานา ไม่ว่ากัน เพราะว่าแนวคิดของคนเราไม่เหมือนกัน ไม่เป็นไรครับ เราเคารพความคิดและข้อเสนอแนะ ของทุกคน เรารู้ว่าทุกคนหวังดีและห่วงจังหวัดห่วงสุขภาพพี่น้องประชาชน แต่ทางจังหวัดยืนยันว่า ถ้าอะไรที่เป็นปัญหาของพี่น้องประชาชน อะไรที่เป็นปัญหาส่วนรวมของจังหวัดตรัง จังหวัดหยิบประเด็นนั้นขึ้นมาคุยกันคุยบนพื้นฐานของการที่รับฟังทุกภาคส่วน จังหวัดไม่ได้ฟังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จังหวัดฟังทุกภาคส่วน เรื่องปิดไม่ยาก ถามว่าปิดแล้ว ถ้าเป็นผู้บริโภค กับผู้ขาย บางส่วนผู้บริโภคกระทบ บางส่วนผู้ขายกระทบ เพราะฉะนั้นการทำงานของจังหวัดตนคิดว่าจะต้องฟังข้อมูลทุกด้าน รวมถึงการที่จะเอาข้อมูลมาตัดสินใจในการทำงาน เราตัดสินใจอะไรในการทำงาน เราตัดสินใจบนพื้นฐานที่พี่น้องประชาชน เดือดร้อนทุกกลุ่ม พอดำรงชีวิต ประจำอยู่ได้ และที่สำคัญคือความปลอดภัยด้านสุขภาพและการป้องกันการติดเชื้อ ทุกอย่างต้องนำมาคุย แนวทางหาทางออกที่ดีที่สุด

นายขจรศักดิ์ กล่าวว่า เหตุผลที่จังหวัดตรังยังไม่ปิด เนื่องจากต้องดูสถานการณ์เป็นองค์ประกอบ เพราะฉะนั้นขอให้ทุกฝ่ายใจเย็นๆ วันที่ 8 เมษายน จะนำเรื่องการปิดเมือง ทั้งเรื่องของ การปิด โรงแรม ทั้งเรื่องของการปิด ห้างสรรพสินค้า เข้าพิจารณา ในคณะกรรมการ ควบคุมโรคติดต่อ ของจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดตรังเป็นประธาน ทั้งเรื่องของมาตรการต่าง ๆ รวมถึงทางแรงงานที่ตนเน้นย้ำว่า ในการทำงานของราชการต้องทำในเชิงรุก

“ในเรื่องมาตรการเยียวยา 5,000 บาท เรื่องการชดเชยทางกองทุนประกันสังคม ไม่ต้องกลัวพี่น้องประชาชนมาที่สำนักงานฯ ถ้าเป็นกระบวนการที่เขามา ถ้าเราอยากจะลดในเรื่องของการ Social Distancing ท่านก็ควรประชาสัมพันธ์เบอร์โทรศัพท์สำหรับติดต่อเป็นศูนย์กลางให้เขาได้โทรหายข้องใจ ให้เขาเข้าใจในเรื่องของข้อมูลต่างๆ เหล่านั้น เพราะว่า ตอนนี้นโยบายของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ออกมาที่ได้ดูในโซเชียล นโยบาย พมจ. ล่าสุด เราไม่ทิ้งกัน จะให้คนตกงาน คนไม่มีญาติ มีที่พักฟรี อาหารฟรี โปรดโทร.ไปที่สายด่วน 1300” นายขจรศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image