หมอชี้ “พลาสมา” รักษา “โควิด-19” ต้องลอง แต่ยังไม่มีข้อสรุป ห่วงถ้าเอาไม่อยู่ “หน้าฝน” คือความท้าทาย

หมอชี้ “พลาสมา” รักษา “โควิด-19” ต้องลอง แต่ยังไม่มีข้อสรุป ห่วงถ้าเอาไม่อยู่ “หน้าฝน” คือความท้าทาย

โควิด-19 เมื่อวันที่ 6 เมษายน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีการนำพลาสมาของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่รักษาหายแล้วมารักษาผู้ป่วยติดเชื้อรายอื่นๆ ซึ่งล่าสุดสภากาชาดไทยได้ประกาศขอรับบริจาคพลาสมาจากผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่รักษาหายแล้วนั้น ว่า ในการรักษาในโรคใดๆ ที่ไม่มียารักษา โดยมากจะใช้วิธีการรักษาด้วยการนำภูมิคุ้มกันจากผู้ที่รักษาหายแล้ว ไปทดลองใช้รักษาผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการรักษาอาการ โดยประเทศจีนได้ทดลองวิธีการนี้ออกมาตั้งแต่ที่มีการแพร่ระบาดของโรค แต่ยังไม่มีรายงานวิจัยออกมาชัดเจนว่าได้ผลหรือไม่ เรื่องนี้จึงจะต้องศึกษาต่อไปว่าจะมีการรายงานผลการรักษาด้วยวิธีนี้ออกมาหรือไม่

“ในสภาวะที่ยังไม่มียาตัวใดตัวหนึ่งสามารถจัดการกับโรคโควิด-19 ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถึงแม้โควิด-19 จะมียาต้านไวรัสคือ ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) อยู่ แต่เราก็เห็นว่าผู้ป่วยบางรายที่ได้รับยาในเวลาที่เหมาะสมก็ยังเสียชีวิตได้ ดังนั้น วิธีการรักษาอื่นๆ ที่ยังพอมีความเป็นไปได้ ก็น่าลองใช้ทั้งหมด” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน แต่การควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่นิ่ง ประชาชนจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า โดยหลักการแพร่ระบาดของโรคนี้ ในฤดูฝนมี 2 ปัจจัย ที่จะส่งเสริมให้มีการแพร่ระบาดได้ค่อนข้างเร็ว คือ 1.อุณหภูมิและความชื้น เนื่องจากฤดูฝนอาจจะมีอุณหภูมิที่ลดลงและมีความชื้นมากขึ้น จึงทำให้เชื้อไวรัสอยู่ในสภาพแวดล้อมได้ยาวนาน 2.การกลับมารวมตัวกันของคนในสังคม เช่น การทำงาน การเปิดเทอม ดังนั้น หากมีการรวมตัวกันอีกครั้งในขณะที่ยังควบคุมโรคไม่ได้ดีเท่าที่ควร ก็จะเป็นความท้าทายในการควบคุมของประเทศไทยอย่างมากในระยะต่อไป

“เหตุผลคือ ในกลุ่มเด็ก อาการป่วยจะแสดงน้อยกว่าผู้ใหญ่ โดยเด็กที่ติดเชื้อไวรัสจำนวนไม่ถึงร้อยละ 50 พบว่าไม่มีอาการไข้ ไอ ดังนั้น การป้องกันการแพร่ระบาดในโรงเรียนช่วงฤดูฝน ก็จะเป็นความท้าทายของทุกฝ่าย ช่วงนี้จึงเป็นช่วงระยะเวลาที่สำคัญในการควบคุมโรคให้ได้ก่อนที่จะถึงฤดูที่โรงเรียนกลับมาเปิดเทอมอีกครั้ง” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้พบว่าผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วในประเทศไทยมีการเพิ่มจำนวนที่มากขึ้นในหลักร้อยราย เนื่องจากการระบาดที่มีผู้ป่วยยืนยันจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา โดยพบว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในหลักร้อยต่อวัน และจากการรักษาโรค จะพบว่าผู้ป่วยใช้ระยะการรักษาอาการเฉลี่ยที่ 14 วัน ดังนั้น ขณะนี้ช่วงตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป จะพบว่ามีผู้ป่วยรักษาหายมากขึ้นทุกวัน แต่จะมีนัยยะที่สำคัญอย่างไร มาตรการการป้องกันโรคจะได้ผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการรายงานจำนวนผู้ป่วยยืนยันใหม่รายวันว่ามีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ถึงจะชัดเจนว่ามาตรการป้องกันได้ผล แต่ในขณะนี้จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ยังเพิ่มขึ้นและสลับกับลดลงทุกวัน ทั้งนี้จึงยังไม่สามารถสรุปทิศทางของโรคได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image