สธ.ปรับนิยามผู้ป่วย/ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง “โควิด-19” ทุกประเทศที่เดินทางเข้าไทย

สธ.ปรับนิยามผู้ป่วย/ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง “โควิด-19” ทุกประเทศที่เดินทางเข้าไทย

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 7 เมษายน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า สธ.ได้เพิ่มและขยายนิยามของผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังและการสอบสวนโรค เพื่อนำเข้าตรวจในห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ทั้งนี้ สธ.ได้ตั้งเกณฑ์การตรวจหาเชื้อในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ด้วยการเฝ้าระวังทั้งหมด 3 จุด ได้แก่

1.ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ในช่วงต้นเริ่มคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศจีน โดยเฉพาะเมืองอู่ฮั่น และภายหลังปรับเปลี่ยนมาตามลำดับ ปัจจุบันมีการรายงานผู้ป่วยทั่วโลก 209 ประเทศ ดังนั้น จึงปรับนิยามการคัดกรองมีผู้ป่วยที่มีอาการไข้มากกว่า 37.3 องศาเซลเซียส มีอาการของระบบทางเดินหายใจ ร่วมกับประวัติเสี่ยง ให้ครอบคลุมทุกประเทศ

2.การเฝ้าระวังในสถานพยาบาล มีการปรับนิยามให้สอดคล้องกับการระบาด 2.1.ผู้ติดเชื้อที่มีอาการ มีไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซสเซียส มีอาการระบบทางเดินหายใจ ปอดอักเสบ ให้ครอบคลุมผู้เดินทางจากทุกประเทศ รวมถึงผู้ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 2.2.ผู้ป่วยปอดอักเสบ รวมในรายที่หาสาเหตุไม่ได้ รักษาไม่ดีขึ้นใน 2 วัน มีอาการรุนแรง และการถ่ายภาพรังสีปอดเข้าได้กับเชื้อโควิด-19

3.การเฝ้าระวังบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ปัจจัยเสี่ยงคือผู้ที่แพทย์ผู้ตรวจรักษาสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าป่วย

Advertisement

“การตรวจหาเชื้อในบุคลากรการแพทย์ ในตัวอย่างเช่น โรงพยาบาล (รพ.) วชิระภูเก็ต ที่ได้รับรักษาผู้ป่วยต่างชาติที่ประสบอุบัติเหตุ และภายหลังพบว่าผู้ป่วยรายนี้มีการติดเชื้อโควิด-19 ร่วมด้วย ดังนั้นจึงมีผู้สัมผัสใกล้ชิด 112 ราย ข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามากกว่า 90 ราย ผลตรวจห้องแล็บเป็นลบ แต่ยังมีความจำเป็นในการกักกันและเฝ้าสังเกตอาการไม่น้อยกว่า 14 วัน” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า 4.การเฝ้าระวังการป่วยเป็นกลุ่มก้อน เนื่องจากหน้าฝนจะพบว่ามีโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล หากพบผู้ป่วยลักษณะเป็นกลุ่มก้อนที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และการตรวจแรพพิด เทสต์ (rapid test / RT pcr) ต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่และให้ผลลบ จะนำเข้าสู่การสอบสวนโรคและตรวจแล็บหาเชื้อโควิด-19 ต่อไป ทั้งนี้แบ่งเป็นกลุ่มก้อนของแพทย์ 3 ราย ขึ้นไป และประชาชนทั่วไป 5 รายขึ้นไป

นอกจากนี้ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การปรับเกณฑ์ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ป่วยยืนยัน เพื่อให้ตรวจจับผู้ป่วยให้มากขึ้น และนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวนโรค ดังนั้น หากพบผู้ที่ไม่มีอาการป่วยแต่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จะถูกจำแนกออกทันที

Advertisement

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า หากพบว่ามีอาการไข้ จะเข้าสู่เกณฑ์การดูแล แต่หากไม่มีไข้จะการแยกกักตนเองที่บ้าน (Home Quarantine) ไม่น้อยกว่า 14 วัน กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงได้แก่ สมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วย ผู้ท่องเที่ยวเป็นกลุ่ม ผู้เดินทางร่วมยานพาหนะ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ ฯลฯ ให้ครอบคลุมถึงพนักงานให้บริการ เจ้าหน้าที่ในยานพาหนะ เจ้าหน้าที่ด่านที่ตรวจผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล คนมาเยี่ยมที่ไม่สวมชุด PPE ผู้ป่วยอื่นที่อยู่ห้องเดียวกัน เจ้าหน้าที่ห้องแล็บที่ไม่สวม PPE และผู้ร่วมงาน ร่วมโรงเรียนที่พบปะขณะผู้ป่วยแสดงอาการ

“จากการปรับนิยามและขยายกลุ่มผู้สัมผัส จะทำให้ประชาชนที่ป่วยและผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย เข้าถึงการตรวจหาเชื้อในห้องแล็บมากขึ้น โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งส่วนนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบบบริการสุขภาพประกันสังคม และการเบิกจากจากกรมควบคุมโรค” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image