กรมวิทยาศาสตร์ฯ ตั้งเป้า 110 แล็บทั่วไทย ตรวจ ‘โควิด-19’ ส่งผลออนไลน์ 24 ชม. ยันเป็นมืออาชีพ

กรมวิทยาศาสตร์ฯ ตั้งเป้า 110 แล็บทั่วไทย ตรวจ ‘โควิด-19’ ส่งผล   ออนไลน์ 24 ชม. ยันเป็นมืออาชีพ

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 7 เมษายน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ กล่าวถึงห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ขณะนี้ห้องแล็บของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 มากกว่า 71,860 ตัวอย่าง ในจำนวนนี้รวมถึงสถานพยาบาลของรัฐบาลและเอกชน

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับการตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์ฯ และกรมควบคุมโรค ใช้การตรวจด้วยวิธีตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส หรือ RT-pcr ที่เป็นการตรวจได้มาตรฐานตามที่องค์การอนามัยโลกยืนยัน ขณะนี้ทางกรมวิทยาศาสตร์ฯ มีการตั้งเป้าหมายว่าจะต้องมี 1 แล็บ 1 จังหวัด และรายงานผลใน 24 ชั่วโมง โดยในขณะนี้ประเทศไทยมีห้องแล็บประมาณ 80 ห้อง แบ่งเป็น แล็บภาครัฐ 57 แห่ง และแล็บภาคเอกชน 23 แห่ง กระจายอยู่ในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด

นพ.โอภาส กล่าวว่า ได้ตั้งเป้าเพิ่มใน 2 ส่วน คือ ห้องแล็บในกรุงเทพฯ สามารถตรวจได้ 10,000 ตัวอย่างต่อวัน และห้องแล็บในต่างจังหวัด สามารถตรวจได้ 10,000 ตัวอย่างต่อวัน รวม 20,000 ตัวอย่างต่อวัน

“และคาดว่าในปลายเดือนเมษายนนี้ จะมีห้องแล็บให้ได้อย่างน้อย 110 ห้อง โดย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ.สั่งการให้มีการเตรียมการ คือ 1.เตรียมห้องแล็บและต้องเตรียมน้ำยาตรวจให้เพียงพอ โดยกรมวิทยาศาสตร์ฯ จะใช้น้ำยาที่ผลิตได้เองจากในประเทศ ร่วมกับ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ส่วนภาคเอกชน จะใช้น้ำยาตรวจที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยผ่านการประเมินจากกรมวิทยาศาตร์ฯ แล้ว 2.การจัดระบบรายงานผลให้เปลี่ยนเป็นระบบออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูล และรายงานผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

นพ.โอภาส ยังกล่าวถึงการพิจารณาประเมินชุดตรวจแรพพิด เทสต์ หรือการตรวจแบบภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ที่กรมวิทยาศาสตร์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้ประเมินร่วมกัน ว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีเสียงเรียกร้อง กดดัน ทั้งต่อรัฐบาลและ สธ. ให้มีการนำแรพพิด เทสต์ หรือการตรวจแบบภูมิคุ้มมาใช้ แต่ข้อมูลทางวิชาการ หลักการ รวมถึงแพทย์ผู้รักษา ทั้งจากคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.ศิริราช ยืนยันว่าการตรวจแบบ RT-pcr หรือการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส ยังสำคัญในการตรวจวินิจฉัยและการควบคุมโรค ไม่ใช่การตรวจแบบแรพพิด เทสต์ และ รพ.จุฬาฯ ก็ยังใช้ RT-pcr ในการตรวจเป็นหลัก

“หากทางผู้ทรงคุณวุฒิ หรือคณะกรรมการมีเจตนาจะทุจริตจริง อย่างที่มีการกล่าวหา เราคงต้องรีบปล่อยชุดแรพพิด เทสต์ ออกมาและสนับสนุนให้ใช้อย่างกว้างขวาง แต่ที่ผ่านมา ทั้งกรมวิทยาศาสตร์ฯ สธ.และ อย. กลับทำตรงกันข้ามคือ ยืนหยัดในหลักการ หลักวิชาการ ว่า การตรวจด้วยแรพพิด เทสต์ มีข้อจำกัด และจากที่มีข้อกล่าวหาว่าคณะกรรมการเลือกปฏิบัติ ไม่โปร่งใส ไม่มีมาตรฐาน นั้น ยืนยันว่า เราดำเนินงานมีมาตรฐานสากล มีหลักวิชาการรองรับ และสอดคล้องกับหลักวิชาการ”นพ.โอภาส กล่าว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กรมวิทยาศาสตร์ฯ ยืนยันในความมุ่งมั่น เป็นมืออาชีพ ยึดมั่นในหลักวิชาการว่า พร้อมต่อสู้กับโรคระบาดตามหลักวิชาการโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่เคยทุจริต ไม่เคยถูกครอบงำจากกลุ่มใด หรือผู้ใดที่ไม่ถูกต้อง วันนี้ทุกคนทำงานเพื่อประชาชน อุปสรรค์อาจทำให้สะดุดไปบ้าง แต่ยืนยันที่จะปฏิบัติหน้าที่มุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ปกป้องประชาชนและประเทศชาติต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image