อภ.เผย ‘หน้ากากN95’ เริ่มทยอยเข้าไทย มั่นใจสิ้นเมษาฯ มีสำรอง 8.6 แสนชิ้น

ประธานบอร์ด อภ. เผยทยอยนำเข้า “N95-ชุด PPE” มั่นใจเมษายนนี้มีหน้ากากสำรอง 8.6 แสนชิ้น

องค์การเภสัชกรรม- เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) เปิดเผยความคืบหน้าการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับการควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด -19 ว่า ในส่วนของหน้ากากอนามัย N95 นั้น ก่อนหน้านี้ประเทศไทยได้สั่งซื้อจากบริษัท 3M จำนวน 400,000 ชิ้น ได้รับแล้ว 60,000 ชิ้น ล่าสุดในวันที่ 10 เมษายน จะส่งให้ อภ.อีก 200,000 ชิ้น ส่วนภายในวันที่ 15 เมษายน บริษัทสยามโคเค็น จำกัด จะส่งให้ อภ.อีก 100,000 ชิ้น และวันที่ 30 เมษายน อีก 160,000 ชิ้น ขณะเดียวกัน วันที่ 27 เมษายน ที่สั่งจากจีนก็จะมาถึงเช่นเดียวกัน จำนวน 400,000 ชิ้น ดังนั้นในเดือนเมษายนนี้ ประเทศไทยจะมีหน้ากาก N95 สำรองประมาณ 860,000 ชิ้น

“ตามแผนคาดประมาณการณ์ความต้องการที่ไทยต้องหาหน้ากาก N95 มาให้ได้ประมาณ 2,000,000 ชิ้น สำหรับ 3-4 เดือน อย่างไรก็ตาม กรณีของสยามโคเค็นนั้น เนื่องจากต้องใช้วัตถุดิบจากประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิตประมาณ 600,000 ชิ้น เมื่อผลิตแล้วต้องส่งให้กับทางประเทศญี่ปุ่น และแบ่งให้ไทยเพียง 100,000 ชิ้นเท่านั้น แต่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. เจรจาจนได้รับการจัดสรรให้ไทยร้อยละ 40 ของการผลิต แต่ล่าสุดยังพยายามต่อรองเพื่อให้ได้ร้อยละ 50 ของการผลิตให้ไทย หากได้มาก็จะทำให้เรามีสต็อกหน้ากาก N95 เพิ่มขึ้น” นพ.โสภณ กล่าว

หน้ากาก N95

นอกจากนี้ นพ.โสภณ กล่าวต่อไปว่า ส่วนชุดป้องกันส่วนบุคคล PPE ประเทศไทย ต้องสั่งจากประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นบริษัทของสหรัฐอเมริกา จำนวน 350,000 ชุด เมื่อเดือนมีนาคมได้รับแล้วประมาณ 100,000 ชุด ภายในวันที่ 10 เมษายนนี้ จะส่งมาอีก 40,000 ชุด และสิ้นเดือนเมษายนอีก 110,000 ชิ้น เดือนพฤษภาคม จะเข้ามาอีก 100,000 ชุด จากที่สั่งไปทั้งสิ้น 400,000 ชุด

“อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เราต้องหาทางพึ่งพาตัวเองด้วย จึงได้มีการหารือร่วมกับสมาคมสิ่งทอไทยในการผลิตชุด PPE ใช้เอง โดยจะมีการใช้ผ้าโพลีเอสเตอร์ 100% เคลือบเทปลอน ซึ่งได้รับรายงานว่ามีผ้าในสต็อกที่สามารถตัดเย็บได้ 40,000 ชุด อยู่ระหว่างตัดชุดต้นแบบเพื่อทดสอบคุณภาพความทนต่อแรงดันน้ำ ตะเข็บเย็บต้องไม่รั่วและทนต่อแรงดันน้ำเช่นกัน และเนื่องจากเป็นผ้า จึงสามารถนำมาฆ่าเชื้อกลับมาใช้ซ้ำได้ ตรงนี้อยู่ระหว่างการทดสอบของโรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช และสถาบันบำราศนราดูร เบื้องต้นพบใช้ซ้ำได้ 20 ครั้ง แล้วทดสอบว่า ยังสามารถทนต่อแรงดันน้ำได้หรือไม่” นพ.โสภณ กล่าว

Advertisement

อย่างไรก็ตาม นพ.โสภณ กล่าวว่า สิ่งสำคัญสุดอยู่ที่หน้ากาก N95 ทั้งนี้ ชุดที่ตัดขึ้น หากผ่านการทดสอบคุณภาพ และการใช้ซ้ำแล้วจะทำให้เรามีชุดป้องกันถึง 800,000 ชุด ซึ่งจะนำมาใช้กับภารกิจดูแลผู้ป่วยที่ไม่ใช่ผู้ป่วยหนักต้องใส่เครื่องช่วยหายใจแต่ย่างใด เพราะการดูแลผู้ป่วยต้องใส่เครื่องช่วยหายใจจะต้องใช้ชุด PPE ที่ได้สต็อกไว้เช่นเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image