กรมวิทยาศาสตร์ฯ ยันชุดตรวจ “โควิด-19” ได้มาตรฐาน มีน้ำยาตรวจเพียงพอ

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันการตรวจ “โควิด-19” ได้มาตรฐานและมีน้ำยาตรวจเพียงพอ

โควิด-19 เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้มอบให้กรมวิทยาศาสตร์ฯ ดูแลพัฒนาห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ให้สามารถตรวจวินิจฉัยโรคอย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ รวดเร็ว เพื่อตอบสนองต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยและการป้องกันควบคุมโรค เนื่องจากห้องแล็บของกรมวิทยาศาสตร์ฯ เป็นห้องปฏิบัติการแห่งชาติด้านสาธารณสุข ซึ่งองค์การอนามัยโลกให้เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิง และให้การรับรองในการตรวจหาเชื้ออุบัติใหม่ต่างๆ

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การเกิดโรคโควิด-19 กรมวิทยาศาสตร์ฯ ยังสามารถถอดรหัสสารพันธุกรรมของเชื้อได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก คู่กับศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รพ.จุฬาฯ สภากาชาดไทย พร้อมทั้งได้มีการพัฒนาวิธีการตรวจ Real-Time (RT-PCR) เป็นวิธีการตรวจที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นวิธีมาตรฐานร่วมกับประเทศจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งวิธีการตรวจแบบ Real-Time (RT-PCR) เป็นการตรวจสารพันธุกรรม สามารถตรวจหาเชื้อได้ในระยะแรกของโรค ซึ่งเป็นการเก็บตัวอย่างจากการป้ายเยื่อบุในคอหรือเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูกส่งมาตรวจที่ห้องแล็บ

นอกจากนี้ นพ.โอภาส กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้มีการพัฒนาและให้การรับรองห้องแล็บในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีห้องแล็บที่ได้รับการรับรองแล้วกว่า 80 แห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยตั้งเป้าหมายจะให้มีห้องแล็บ 1 แห่ง 1 จังหวัด ซึ่งคาดว่าภายในเดือนเมษายนนี้ จะพัฒนาและให้การรับรองอย่างน้อย 110 แห่งทั่วประเทศ และรายงานผลผ่านระบบออนไลน์ให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งในกรุงเทพมหานคร จะสามารถตรวจได้ 10,000 ตัวอย่างต่อวัน และส่วนภูมิภาค 10,000 ตัวอย่างต่อวัน

Advertisement

“ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการตรวจตัวอย่างแล้วกว่า 70,000 ตัวอย่าง โดยพบผู้ติดเชื้อจำนวน 2,423 ราย ตามที่ สธ.รายงาน” นพ.โอภาส กล่าว


นพ.โอภาส กล่าวว่า นอกจากกรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้พัฒนาวิธีการตรวจสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 แบบ Real-Time RT-PCR แล้ว ยังได้พัฒนาน้ำยาสำหรับใช้ในการตรวจหาสารพันธุกรรม ซึ่งสามารถผลิตได้เอง ในประเทศไทยไม่ได้สั่งซื้อเป็นชุดสำเร็จจากต่างประเทศ ต่อมา บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตยา ชีววัตถุ ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย และเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถคิดค้นพัฒนาผลิตยาตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำโดยพึ่งวัตถุดิบจากภายนอกน้อยมากช่วยลดการนำเข้า ได้เห็นถึงศักยภาพของกรมวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้ร่วมกันนำองค์ความรู้มาผลิตเป็นชุดทดสอบ RT-PCR KIT หรือ DMSc-COVID-19 โดยที่บริษัทได้ผลิตให้ในเบื้องต้นและมอบให้นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล จำนวน 2 หมื่นชุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และจะผลิตให้อย่างต่อเนื่องโดยคาดว่าสิ้นเดือนเมษายนนี้ สามารถผลิตได้ครบ 1 แสนชุด

“แต่หากยังมีการระบาดของโรคโควิด-19 อีก บริษัทจะทำการผลิตให้ได้ถึง 1 ล้านชุด ภายใน 6 เดือน ซึ่งทำให้เชื่อมั่นได้ว่าประเทศไทยมีน้ำยาในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อย่างเพียงพอ” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image