สธ.ลดความแออัดใน รพ.สกัด ‘โควิด-19’ ปรับแนวให้ ‘ยาต้านไวรัส’ ผู้ป่วยปอดบวม

สธ.ปรับลดความแออัดใน รพ. ยับยั้ง “โควิด-19” พร้อมปรับแนวทางให้ “ยาต้านไวรัส” ผู้ป่วยอาการปอดบวม

กระทรวงสาธารณสุข- เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการลดความแออัดของสถานพยาบาล และการปรับแนวทางแยกผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 ในการเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล (รพ.) ว่า โดยทั่วไปโรงพยาบาลต่างๆ จะมีผู้เข้ารับบริการมาก รวมถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องเข้าไปรับยา ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการลดการแพร่และรับเชื้อโควิด-19 และเพื่อสำรองทรัพยากรและบุคลากรมาดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 กรมการแพทย์จึงออกคู่มือแนวทางลดความแออัดใน รพ. สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคระบบประสาท โรคหัวใจหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคความดันสูง

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคทั่วไปใน รพ. จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มผู้ป่วยที่อาการดี เช่น โรคเรื้อรังแต่อาการคงที่ จะดำเนินการส่งยาทางไปรษณีย์ซึ่งทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้สนับสนุนค่าจัดส่งยา 50 บาท/ราย/ครั้ง หรือการรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน เลื่อนการนัดพบแพทย์ให้มีระยะยาวขึ้น และมีการให้บริการปรึกษาแพทย์ผ่านระบบสื่อสารทางไกล 2.กลุ่มผู้ป่วยคุมอาการได้ไม่ค่อยดี จะมีการบริการวิดีโอทางไกล เช่น Line Call และให้มาตรวจในเวลาที่ไม่เร่งด่วน และ 3.กลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับบริการได้ปกติ

“ส่วนกรณีผู้ป่วยโควิด-19 แนวทางรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ออกมาล่าสุดนั้น คือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อทุกรายทั้งผู้ที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย จะต้องเข้ารับการรักษาใน รพ.อย่างน้อย 2-7 วัน และหลังจากนั้นก็จะทำการย้ายไปรักษาที่หอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 หรือฮอสปิเทล (Hospitel) โดยมีรองรับทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ส่วนแนวทางการให้ยานั้น นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ผู้ที่ไม่มีอาการจะไม่ได้รับยา ผู้ที่มีอาการเล็กน้อยจะได้ยารักษาโรคมาลาเรียคู่กับยาต้านไวรัสเอดส์ ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ปอดบวมทุกราย จะได้ยารักษาโรคมาลาเรียคู่กับยาต้านไวรัสเอดส์ ร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคปอดบวมรุนแรง

Advertisement

“ขอความร่วมมือประชาชนให้ข้อมูลกับแพทย์อย่างครบถ้วนและถูกต้อง เพื่อประโยชน์ต่อตนเองและบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อการรักษาที่รวดเร็ว เช่น หากบางรายมารักษาอาการ แต่ไม่มีอาการบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 ก็อาจส่งผลเสียกับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image