‘หมอยง’ แจงยิบ สายพันธุ์โควิดที่ระบาดทั่วโลก ชี้ ไทยขาดนักวิชาการวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรม

‘หมอยง’ แจงยิบ สายพันธุ์โควิดที่ระบาดทั่วโลก ชี้ ไทยขาดนักวิชาการวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรม

โควิด – เมื่อวันที่ 14 เมษายน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความใน เฟซบุ๊กส่วนตัว อธิบายถึง โควิด-19 สายพันธุ์ที่ระบาดทั่วโลก พร้อมระบุว่า “วันนี้เขียนอาจจะเข้าใจยากหน่อย” ว่า ได้มีการศึกษาพันธุกรรมของโคโรนาไวรัส “โควิด-19” กันมากทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกา ในปัจจุบันมีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว มากกว่า 5,000 สายพันธุ์ และแบ่งสายพันธุ์ของไวรัส แล้วแต่ใครจะกำหนด เช่นเป็น A B C A เป็นสายพันธุ์เริ่มแรก โดยเปรียบเสมือน B วิวัฒนาการ มาจาก A และ C วิวัฒนาการมาจาก B หรืออาจกล่าวว่า C เป็นลูกของ B แต่ไม่ได้บอกว่าใครรุนแรงกว่าใคร บอกว่าความเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก บอกเส้นทางเดินของไวรัสว่ามาจากที่ใด

ศ.นพ.ยงระบุอีกว่า ในการวิเคราะห์แบบมีหลักเกณฑ์ของ GISAID โดยดูตำแหน่งความหลากหลายทางพันธุกรรม polymorphism สายพันธุ์ของโควิด-19 ในปัจจุบันมีจุดเริ่มต้นเป็นสายพันธุ์ S (serine) แล้วมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมเป็น L (Leucine) สายพันธุ์ L แพร่ขยายได้รวดเร็วกว่า และแพร่กระจายเข้าสู่ยุโรปและอเมริกา ต่อมาจึงแยกสายพันธุ์ L แยกออกเป็นอีก 2 สายพันธุ์คือ G (glycine) และสายพันธุ์ V (Valine) ดังนั้น สายพันธุ์ของโควิด-19 ในปัจจุบันจึงแบ่งเป็น 3 สายพันธุ์ คือ S, G และ V และยังมีสายพันธุ์อื่นๆ อีกที่ยังไม่ได้กำหนด

“เราศึกษาในประเทศไทย พบว่า ลักษณะของสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยมีลักษณะที่จำเพาะ เราอยากจะตั้งชื่อว่าสายพันธุ์ T ไม่ใช่มาจาก Thailand แต่ T มาจากการเปลี่ยนพันธุกรรม ไปเป็น Threonine ในส่วนของ spike gene ที่ยื่นออกมา ถ้าเรามีการศึกษาเยอะและมากพอ สายพันธุ์ G เข้าสู่อเมริกาทางด้านตะวันออก สายพันธุ์ S เข้าสู่อเมริกาทางด้านตะวันตก ในอเมริกาเองจึงมีทั้ง G และ S สายพันธุ์ V และ G ระบาดในยุโรป สำหรับ Australia ช่วงแรก จะเป็นสายพันธุ์ S ที่มาจากจีน และเอเชียตะวันออก และต่อมา V และ G เข้ามาทีหลัง ผ่านการเดินทางเข้ามาจากยุโรป บ้านเราที่พบมากยังเป็นสายพันธุ์ S ที่มาจากประเทศจีนในระยะแรก และระยะหลัง สายพันธุ์ทางตะวันตก โดยเฉพาะยุโรป ที่จะเป็นสายพันธุ์ V และ G เข้ามาสู่บ้านเรา โดยรวมแล้วสายพันธุ์ผสมกันไปมา เพราะการเดินทาง จากประเทศหนึ่งไปสู่ประเทศหนึ่ง

ประเทศไทยต้องการนักคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เพื่อมาวิเคราะห์รูปแบบของการระบาด โดยใช้วิธีชีวสารสนเทศ (bioinformatics) เรียนให้รู้ และสนุก จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เรายังขาดนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ ในด้านนี้อย่างมาก มาทำการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ทางด้านพันธุกรรม ไม่ว่าจะเป็นของมนุษย์ สัตว์ เชื้อโรคและไวรัส จะมีประโยชน์อย่างมาก ทั้งทางด้านการวินิจฉัย ระบาดวิทยา การค้นพบการก่อโรค การหาวิธีการป้องกัน พัฒนายารักษา และทำวัคซีนในการป้องกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้แบบจำลอง เริ่มจากสารพันธุกรรม DNA และ RNA ของไวรัสเป็นพื้นฐาน” ศ.นพ.ยงกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image