เปิด 6ข้อ เลิก “ล็อกดาวน์” ประเทศ “หมอทวีศิลป์” เผย ศบค.พิจารณาสัปดาห์หน้า

เปิด 6ข้อ ยกเลิก “ล็อกดาวน์” ประเทศ “หมอทวีศิลป์” เผย ศบค.จ่อพิจารณาสัปดาห์หน้า

โควิด-19 เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล “โควิด-19” ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) เปิดเผยระหว่างแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ว่า องค์การอนามัยโลก ระบุว่าจะต้องมี 6 ข้อ ถ้าจะยกเลิก “การล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19” ได้แก่

1.ต้องสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศได้แล้ว ในสถานการณ์ของประเทศไทยที่พบผู้ป่วยใหม่ จำนวน 28 ราย ถือว่าเป็นการควบคุมได้ในระดับหนึ่ง แต่ในความเหมาะสมนั้น อาจจะต้องไม่พบผู้ป่วยเลยหรือจะต้องคงที่อยู่ที่จำนวนน้อยๆ เป็นระยะเวลานาน

2.ระบบสุขภาพต้องสามารถตรวจหาผู้ที่มีอาการของโรค ตรวจหาเชื้อ แยกตัวและทำการรักษาพร้อมทั้งทำการสอบสวนโรค ซึ่งการตรวจหาเชื้อในประเทศไทยมีความสามารถเพียงพอ แต่จะต้องพัฒนาระบบการรายงานโรคให้ลดเร็วขึ้น ในการนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีหน้าที่ดูแลค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อของผู้ป่วย โดยจะต้องอำนวยความสะดวกให้แก่สถานพยาบาลในการบริการด้านค่าใช้จ่ายและยืนยันการตรวจทั้งหมด

Advertisement

3.มีความเสี่ยงระดับน้อยที่สุดในสถานที่เสี่ยงมากที่สุด เช่น บ้านพักคนชรา ฯลฯ ในประเทศไทยแทบจะไม่มีการรายงานผู้ป่วยเกิดขึ้นในบ้านพักคนชรา เพราะส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อจากการดูแลรักษาพยาบาล

4.โรงเรียน สำนักงานและสถานที่สาธารณะต่างๆ ต้องมีมาตรการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ มาตรการตอนนี้ของประเทศไทย มีหลายพื้นที่ที่ปิดทำการ รวมถึงมาตรการและระเบียบในการเข้าใช้สถานที่ต่างๆ ให้มีการสอดรับกับการป้องกันโรค

5.สามารถจัดการความเสี่ยงของโรคจากผู้เดินทางเข้าประเทศได้ ขณะนี้ ประเทศไทยมีการจำกัดปริมาณของผู้ที่เดินทางเข้ามาภายในประเทศ ให้มีผู้เดินทางเข้า-ออก ได้เฉพาะผู้ที่จำเป็นเท่านั้น เช่น คนไทยที่กลับจากต่างประเทศภายหลังจากการประกอบศาสนกิจ เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยก็ทำการตรวจหาเชื้อและเข้ากักกันในสถานที่ที่รัฐบาลจัดไว้ให้ (State quarantine) ซึ่งการป้องกันโรคไม่ให้แพร่ระบาดได้

Advertisement

6.คนในชุมชนต้องมีความรู้ มีส่วนร่วม และได้รับการสนับสนุนให้มีชีวิตอยู่ภายใต้สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากการเกิดโรค ในส่วนนี้ประเทศไทยได้รับคำชมว่า คนไทย สวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันตัวเองจำนวนมากขึ้น การใช้หน้ากากผ้าที่มากขึ้น แต่ยังมีส่วนน้อยที่ยังมีการรวมตัว และทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคเป็นกลุ่มก้อน

“เมื่อถามว่า จะปลดล็อกเมื่อไหร่ ขณะนี้มีการประชุมเพื่อเตรียมนำเสนอข้อมูลต่อประธาน ศบค. แล้ว ทั้งทีมนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่ทางแพทย์อย่างเดียว แต่รวมถึงทางสังคม และเอกชนจะต้องมานั่งคุยกัน ในการเปิดมาตรการบางอย่าง เช่น ร้านตัดผม ก็มีการปิดเพียงบางจังหวัด และในบางจังหวัดก็ยังเปิดให้บริการปกติ อาทิ กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่เสี่ยง ที่ทำการปิดร้านตัดผม เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ใกล้ชิดกันอย่างมาก” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ข้อเสนอ ตัวอย่างการผ่อนคลายมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ เช่น การเปิดร้านตัดผม มี 2 ด้านคือ 1.คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ คือ ผู้ประกอบการจะต้องจัดเตรียมสถานที่ ที่นอนสระผมให้ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร และไม่ให้มีที่นั่งรอในร้านแต่ให้ใช้บัตรคิวแทน ให้บริการใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง อาทิ สระผม ตัดผม เท่านั้น งดเว้นบริการที่ต้องใช้อุปกรณ์ร่วมกัน เช่น การแต่งหน้า รวมถึงพนักงานให้บริการต้องใส่หน้ากากผ้า ล้างมือทุกครั้งที่ให้บริการลูกค้าแต่ละราย ล้างอุปกรณ์ด้วยน้ำและผงซักฟอกทุกครั้งที่ให้บริการลูกค้าแต่ละราย เช็ดผิวสัมผัสทุกชั่วโมงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และจัดให้มีเจลแอลกอฮอล์บริเวณทางเข้าร้าน 2.คำแนะนำสำหรับผู้รับบริการ คือ สวมใส่หน้ากากผ้าตลอดเวลาที่อยู่ในร้านตัดผม และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อนเข้าร้าน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ตัวอย่างการเปิดห้างสรรพสินค้า มี 2 ด้านคือ 1.คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ คือ เปิดร้านโดยมีบริเวณชัดเจนสามารถ จัดบริเวณนั่งรอการรับบริการห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ทยอยเปิดในแผนกที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ร้านโทรศัพท์ ธนาคาร เครื่องใช้ไฟฟ้า จำกัดจำนวนคนเข้าไม่เกิน 1 คนต่อตารางเมตร หรือจำกัดระยะเวลาจอดรถ ด้านการบริการจะไม่มีการจัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการ รวมตัว เช่น โปรโมชั่น นาทีทอง จัดโซนอาหารให้มีที่นั่งห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร หรือเปิดให้เฉพาะซื้อกลับบ้าน การคัดกรองและอนุญาตเฉพาะผู้ที่สวมใส่หน้ากากเท่านั้น ที่สามารถเข้าห้างได้บริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้กับทุกคนก่อนเข้าห้าง รวมถึงการทำความสะอาดอุปกรณ์ ผิวสัมผัส ห้องสุขา ทุกชั่วโมง 2.คำแนะนำสำหรับผู้รับบริการ คือ สวมใส่หน้ากากผ้าตลอดเวลา คัดกรองอาการไข้ หรือ ระบบทางเดินหายใจก่อนเข้าห้าง

“คณะกรรมการ ศบค.ชุดนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณา จำต้องมีการคิดมาตรการขึ้นมาภายในเร็วๆ หรือภายในสัปดาห์หน้าจะต้องมีการตัดสินในการผ่อนคลายมาตรการบางอย่าง เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยลดน้อยลง จึงจะต้องมีการผ่อนคลายมาตรการแต่พฤติกรรมการป้องกันโรคยังต้องปฏิบัติเช่นเดิม” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image