สธ.เปิดไทม์ไลน์ 111 วัน ไทยสกัด “โควิด-19” เผยไม่มีประเทศไหนทำเหมือนกัน

สธ.เปิดไทม์ไลน์ 111 วัน ไทยสกัด “โควิด-19” เผยไม่มีประเทศไหนทำเหมือนกัน

โควิด-19 เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้าสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19

นพ.บัญชา กล่าวว่า วันนี้ครบรอบการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และการสาธารณสุขในกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 รวม 111 วัน ซึ่งมีรายงานการพบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศไทยสะสม 2,765 ราย เสียชีวิตสะสม 47 ราย รักษาหาย กลับบ้านแล้ว 1,928 ราย ยังอยู่ในการรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) 790 ราย ซึ่งอัตราการรักษาหายค่อนข้างสูง อัตราการเสียชีวิตในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ส่วนอัตราการเสียชีวิตทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 6.9 ความสำเร็จเหล่านี้ เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกหน่วยงานและประชาชน

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า จากการทบทวนสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยลำดับจากเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน โรคนี้เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2562 หรือ ค.ศ.2019 เริ่มพบผู้ป่วยปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน

31 ธันวาคม 2562 จีนรายงานการพบผู้ป่วยปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุเป็นกลุ่มก้อนต่อองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยพบผู้ป่วยจำนวน 27 คน และทั้ง 27 คน มีประวัติเกี่ยวข้องกับ Wuhan Huanan Seafood market ประเทศจีน โดยระบุว่าไม่มีรายงานการแพร่โรคจากคนสู่คน

Advertisement

3 มกราคม 2563 กรมควบคุมโรคของประเทศไทย ออกคำสั่งเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินแต่งตั้งผู้บัญชาการ เพื่อเตรียมความพร้อมคัดกรองและเฝ้าระวังโรคในกลุ่มผู้เดินทางจากเมืองอู่ฮั่นที่เดินทางเข้าประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นเป้าหมายหลักในการเดินทางมาท่องเที่ยวของชาวเมืองอู่ฮั่น โดยวันเดียวกันนี้ จีนได้ประกาศรายงานผู้ป่วยเพิ่มจาก 27 รายเป็น 44 ราย

7 มกราคม ทางการจีนประกาศว่าค้นพบเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค คือ bat SARS-like coronavirus โดยหมายถึงเชื้อที่คล้ายกับโรคซาร์สที่พบในค้างคาว

8 มกราคม ประเทศไทยพบผู้เดินทางมาจากประเทศจีน โดยการตรวจจับได้ที่ด่านคัดกรองที่สนามบิน เป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค สงสัยว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การตรวจเบื้องต้นพบการติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ไม่สามารถระบุสายพันธุ์ได้ชัดเจน

10 มกราคม พบว่า 10 ห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจพบเชื้อ bat SARS-like coronavirus ในผู้ป่วย ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันถึง 89%

11 มกราคม ทางการจีนได้เปิดรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัส โดยเป็นวันเดียวกันกับที่ประเทศไทยสามารถจับคู่รหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสได้

13 มกราคม หลังจากที่ประเทศไทยได้พิจารณาข้อมูลจากหลายส่วน จึงได้ประกาศรายงานการพบผู้ป่วยรายแรกในประเทศไทย โดยในวันเดียวกันนี้พบผู้เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรครายที่ 2 จึงได้ทำการตรวจหาเชื้อไวรัส

15 มกราคม พบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค รายที่ 3 และเป็นคนไทยรายแรก แต่ในขณะนั้นขั้นตอนการตรวจหาเชื้อยังมีความซับซ้อนอยู่และทำให้การวินิจฉัยใช้เวลามากพอสมควร กลางเดือนมกราคมประเทศไทยเริ่มขยายการเฝ้าระวัง จากเดิมที่เฝ้าระวังเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เป็นการขยายไปในกลุ่มผู้ที่สัมผัสผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ

18 มกราคม ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายแรก ออกจาก รพ.และเดินทางกลับประเทศจีน

20 มกราคม ทางการจีนประกาศว่าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ โดยจะเห็นได้ชัดว่าระบบสาธารณสุขของประเทศไทยได้ดำเนินการมากกว่าสถานการณ์จริง 1 ขั้นเสมอ

23 มกราคม ทางการจีนประกาศปิดเมืองอู่ฮั่น

27 มกราคม รัฐบาลไทยได้ยกระดับให้ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี(PMOC) ติดตามและประเมินสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา

22-23 มกราคม องค์การอนามัยโลกแต่งตั้งคณะกรรมการภาวะฉุกเฉิน เพื่อทบทวนสถานการณ์ต่างๆ และเพื่อให้คำแนะนำต่อผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ว่าควรจะประกาศสถานการณ์ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับนานาชาติหรือไม่

30 มกราคม องค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับนานาชาติ

31 มกราคม ประเทศไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อที่เป็นคนไทย และเป็นการติดเชื้อภายในประเทศรายแรก และภายหลังจากนั้นก็พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างช้าๆ เป็นทั้งผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศและผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศไทย

3 กุมภาพันธ์ ประเทศไทยได้เริ่มทำการประชุมซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติของทีมสอบสวนโรคติดต่ออันตรายทั่วประเทศ โดยในขณะนั้นสถานการณ์ทั่วโลกยังพบผู้ป่วยในไม่กี่ประเทศ และในประเทศไทยยังพบผู้ป่วยไม่กี่จังหวัด โดยเป็นจังหวัดที่มีเที่ยวบินตรงจากประเทศจีนมาลงที่สนามบินของจังหวัด

4 กุมภาพันธ์ รัฐบาลไทยได้ดำเนินการรับคนไทย 138 คนจากเมืองอู่ฮั่นเพื่อเดินทางกลับประเทศไทยและได้รับตัวเข้าไว้สังเกตอาการในสถานที่รัฐบาลจัดไว้เป็นระยะเวลา 14 วันและพบผู้ติดเชื้อ 1 ราย

11 กุมภาพันธ์ เริ่มพบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงรายแรก โดยจำเป็นจะต้องใช้ท่อและเครื่องช่วยหายใจ กรมควบคุมโรคจึงขยายนิยามการเฝ้าระวังการติดเชื้อในผู้ป่วยโรคปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานนำหน้าสถานการณ์จริง 1 ขั้น

15 กุมภาพันธ์ บริษัทจากประเทศญี่ปุ่นบริจาคยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์(Favipiravir) ให้ประเทศไทยจำนวน 200 เม็ด ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยเองก็ได้ดำเนินการจัดซื้อยาชนิดนี้ในต่างประเทศ

19 กุมภาพันธ์ มีการชี้แจงแนวทางการป้องกันการติดเชื้อใน รพ. สำหรับสถานพยาบาลทั่วประเทศ และเริ่มมีการรณรงค์ให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากผ้าเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

24 กุมภาพันธ์ ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ล็อตแรก จำนวน 5,000 เม็ดส่งถึงกรมควบคุมโรคและมีแนวทางใช้ยาตัวนี้กับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และทยอยมีผู้ป่วยรุนแรงมากขึ้น เริ่มมีการขาดแคนอุปกรณ์การป้องกันการติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัยชนิดทางการแพทย์

29 กุมภาพันธ์ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อพ.ศ. 2558 และในวันเดียวกันนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เสียชีวิตรายแรกในประเทศไทย

1 มีนาคม เริ่มมีกระแสคัดค้านจากประชาชนว่าการสวมใส่หน้ากากผ้าเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งความเป็นจริงแล้วข่าวนี้ไม่มีความเป็นจริง

2 มีนาคม มีข้อมูลว่าแรงงานไทยผิดกฎหมายในประเทศเกาหลีจะเดินทางกลับประเทศไทย โดยรัฐบาลไทยก็ได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับผู้เดินทางกลุ่มนี้

5 มีนาคม ประกาศท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อพ.ศ.2558 จำนวน 4 ประเทศ 2 เขตปกครองพิเศษ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ อิตาลี อิหร่าน ฮ่องกง และมาเก๊า

 6-8 มีนาคม รายการมวย ที่สนามมวยลุมพินีและสนามมวยราชดำเนิน เป็นจุดเริ่มต้นของการพบผู้ติดเชื้อและแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนครั้งแรกในประเทศไทย

12 มีนาคม สำนักนายกรัฐมนตรีออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ขึ้น

13 มีนาคม ผู้มีชื่อเสียงที่ทำหน้าที่พิธีกรในสนามมวยประกาศตัวว่าตนเองติดเชื้อโควิด-19 และในช่วงเดียวกันนี้ก็มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในสถานบันเทิง และกลุ่มก้อนผู้ที่เดินทางเข้าร่วมงานดาวะห์ที่ประเทศมาเลเซีย จึงก่อให้เกิดสถานการณ์พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมเป็นต้นมา

17 มีนาคม คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการเร่งด่วนและให้ปิดมหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ สถาบันกวดวิชา สถานบันเทิง สถานบริการ ธุรกิจนวดแผนโบราณ และโรงมหรสพ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร(กทม.)และปริมณฑล และงดการจัดกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมากซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค

ซึ่งในช่วงนี้เริ่มมีผู้ที่เสนอมาตรการให้มีการล็อกดาวน์ประเทศไทย และมีการคาดการณ์ว่าหากไม่ดำเนินมาตรการนี้ พบผู้ป่วยประมาณ 351,948 ราย ภายในวันที่ 15 เมษายน

21 มีนาคม ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศปิดสถานบริการหลายแห่งเพิ่มขึ้น

22 มีนาคม ทาง สธ.ได้มีการปรับนิยามการค้นหาผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ จากเดิมที่จะต้องใช้ผลทางห้องปฏิบัติการ 2 แห่งยืนยัน เหลือเพียง 1 แห่งในการยืนยัน จึงส่งผลให้วันที่ 22 มีนาคม พบตัวเลขผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อมากที่สุดคือ 188 ราย

24 มีนาคม นายกรัฐมนตรีได้ประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน และมีผลบังคับใช้วันที่ 26 มีนาคม

28 มีนาคม จ.ปัตตานี ประกาศห้ามให้มีการเดินทางเข้าและออกในพื้นที่จังหวัด

29 มีนาคม จ.ภูเก็ต ประกาศปิดเกาะรวมถึงการปิดช่องทางเข้า-ออก ทั้งทางบกและทางเรือ

31 มีนาคม ประกาศให้สิทธิ์การรับบริการสาธารณสุขกรณีโรคโควิด-19 อยู่ในขอบเขตบริการสาธารณสุขตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

2 เมษายน นายกรัฐมนตรีประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานทั่วราชอาณาจักร (เคอร์ฟิว) และสั่งห้ามไม่ให้คนต่างชาติและชาวไทยเดินทางเข้าประเทศไทย

4 เมษายน สำนักการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ห้ามเครื่องบินทุกประเทศและผู้เดินทางโดยสารเข้าประเทศไทยเป็นระยะเวลา 3 วัน และมีการประกาศห้ามต่อเนื่องเป็นต้นมา

7 เมษายน ครม.มีมติเห็นชอบให้เลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 / 2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563

8 เมษายน กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ออกประกาศห้ามจัดงานเทศกาลสงกรานต์

9 เมษายน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดในหลายจังหวัด ประกาศห้ามการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมีกำหนดให้งดการขายไปถึงวันที่ 20-30 เมษายน ในวันเดียวกันนี้ สธ.รายงานจำนวนผู้ป่วยใหม่ 54 ราย และหลังจากวันที่ 9 เมษายนเป็นต้นมาก็ไม่มีการรายงานว่าพบผู้ป่วยเกินละ 100 ราย/วัน

12 เมษายน จ.ภูเก็ต สั่งปิดพื้นที่รอยต่อระหว่างตำบลทุกตำบล ตั้งแต่วันที่ 13 – 26 เมษายน

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่ได้ใช้มาตรการเดียวในการปิดเมืองหรือการปิดสถานที่ต่างๆ แต่ประเทศไทยได้ใช้หลายมาตรการร่วมกัน ทั้งมาตรการด้านการสร้างเสริมความรู้ มาตรการทางสาธารณสุข มาตรการสุขอนามัยส่วนบุคคลและมาตรการทางการแพทย์ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ไม่มีประเทศไหนที่ดำเนินการเหมือนกันทุกประการ โดยความสำเร็จของประเทศไทยคือการทำงานผสมผสานหลากหลายวิธี และพบว่าขณะนี้จำนวนผู้ป่วยในประเทศเริ่มชะลอตัวและลดลง ซึ่งเป็นการควบคุมได้ดีในระดับหนึ่ง

“ไม่มีประเทศไหนที่เหมือนกัน ในขณะที่ท่านตั้งคำถามกับประเทศของท่านเองว่า ทำไมตรวจน้อย ทำไมไม่ใช้แอพพลิเคชั่น หรือเทคโนโลยีขั้นสูงมาทำโน่นทำนี่ ทำไมไม่ประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ทำไมไม่ทำอย่างนั้น หรือทำไมไม่ทำอย่างนี้ ในขณะที่ท่านตั้งคำถามเหล่านี้ ก็มีประชากรในประเทศอื่นตั้งคำถามกลับประเทศของเขาเหมือนกันว่า ทำไมประเทศของเขาถึงไม่มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นล้านคน ถามว่าทำไมประเทศของเขาไม่มีนักระบาด ที่มีความรู้ความสามารถและสามารถปฎิบัติการทางแล็บ และทุ่มเทการทำงานได้อย่างเพียงพอ ทำไมคนของเขาถึงไม่ใส่หน้ากากผ้า ทำไมประเทศเขาไม่มี                   เจลแอลกอฮอล์ล้างมือวางอยู่อย่างทั่วถึง ทำไมคนของเขายังออกนอกบ้านทั้งที่มีการประกาศห้าม ทั้งที่ประเทศไทยอยู่ที่บ้านโดยที่ยังไม่มีการประกาศห้ามเลยด้วยซ้ำ ทำไมบ้านเขาไม่มีคนที่มีน้ำใจออกมาแจกข้าวของที่จำเป็น ดังนั้นจะเห็นว่าไม่มีประเทศไหนเหมือนกัน และความสำเร็จของประเทศไทยก็เป็นความสำเร็จที่ประเทศอื่นลอกเลียนแบบไม่ได้ จึงอยากให้เข้าใจว่ามาตรการของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เพราะต้นทุนของแต่ละประเทศต่างกัน” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image