‘เชียงราย’ ป่วย ‘โควิด-19’ ซ้ำ สธ.เผยอยู่ระหว่างสอบสวนโรค เตือน! ปชช.ระวังหน้าฝน

“เชียงราย” พบป่วย “โควิด-19” ซ้ำ สธ.เผยยังอยู่ระหว่างสอบสวนโรค เตือน! ปชช.ระวังหน้าฝน

โควิด-19 เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้าสถานการณ์ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า กรณีผู้ป่วยหญิง จ.ชัยภูมิ ที่มีการรายงานว่าเคยติดเชื้อโควิด-19 และพบว่าภายหลังได้มีการตรวจด้วย RT-pcr อีกครั้ง มีผลตรวจเป็นบวก ขณะเดียวกัน มีการรายงานว่าพบผู้ป่วยในลักษณะนี้เกิดขึ้นที่ จ.เชียงราย สามารถอธิบายได้ว่า มาตรฐานของการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันในประเทศไทยของกลุ่มผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง กำหนดว่าผู้ป่วยจะต้องรักษาอาการอยู่ในสถานพยาบาล ให้ครบ 14 วัน และหากไม่มีภาวะของอาการปอดอักเสบ ก็จะอนุญาตให้กลับบ้านได้ โดยจะต้องกลับไปดูแลตนเอง เว้นระยะห่างทางสังคมอย่างน้อยอีก 14 วัน ซึ่งโดยรวมแล้วจะอยู่ในระยะ 1 เดือนหลังจากที่พบอาการป่วย

นพ.อนุพงศ์กล่าวว่า จากรายงานที่ สธ.ได้รับ กรณีที่ 1 เป็นผู้ป่วยใน จ.ชัยภูมิ ผู้ป่วยเคยติดเชื้อโควิด-19 และทำการรักษาตามมาตรฐาน แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ ผู้ป่วยจึงเดินทางกลับบ้านที่ จ.ชัยภูมิ เมื่อมีการป่วยครั้งที่ 2 โดยไม่มีอาการไข้ แต่การตรวจ RT-pcr มีผลเป็นบวก จึงยืนยันว่าเป็นซากไวรัส เนื่องจากการป่วยครั้งใหม่ยังอยู่ในระยะเวลา 1 เดือน ที่พบอาการป่วยครั้งแรก

“แต่สำหรับกรณีผู้ป่วยใน จ.เชียงราย นับเป็นกรณีที่ 2 ซึ่งผู้ป่วยยังอยู่ในระยะเวลา 1 เดือน ที่พบอาการป่วยครั้งแรก เช่นเดียวกับกรณีที่ 1 แต่ต่างกันคือ ผู้ป่วยรายนี้มีอาการไข้สูง ร่วมกับผลเอกซเรย์พบว่ามีอาการปอดอักเสบ โดย ขณะนี้อยู่ในระหว่างการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยรายนี้นั้นเป็นการป่วยซ้ำในโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือเป็นการติดเชื้อซ้ำเติมจากแบคทีเรีย” นพ.อนุพงศ์กล่าว และว่า ในระหว่างการพักฟื้น 30 วัน ร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ในการสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีระยะเวลาเร็วช้าต่างกัน แต่ในขณะนี้อยู่ในระหว่างการเก็บข้อมูล เนื่องจากโรคนี้ยังเป็นโรคที่ใหม่ เรายังมีความรู้ของโรคนี้น้อย จึงต้องดูแลผู้ป่วยให้ได้มาตรฐานอย่างดีที่สุด

นอกจากนี้ นพ.อนุพงศ์กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์พบผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศไทยลดน้อยลง ประชาชนบางส่วนจึงกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ สังเกตได้ว่าใน 1 สัปดาห์ ที่ผ่านมาเริ่มมีจำนวนรถบนท้องถนนมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเนื่องจากมีโอกาสในการแพร่โรคได้มากขึ้น ขณะเดียวกันนี้มีประชาชนคนไทยในต่างประเทศที่มีความต้องการในการเดินทางกลับประเทศไทย เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ อินเดีย มาเลเซีย ในช่วงระยะเวลา 3 วันที่ผ่านมา มีการรายงานว่ามีผู้เดินทางทยอยเดินทางกลับมามากกว่าวันละ 350 ราย ซึ่งจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรค ในประเทศไทย และถ้าหากประชาชนในประเทศเริ่มมีการออกมาจากบ้านมากขึ้น หรือละเว้นการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ก็จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคได้มากขึ้น

Advertisement

นพ.อนุพงศ์กล่าวว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม ประเทศไทยมีโรคประจำถิ่น คือ โรคไข้เลือดออก และโรคไข้หวัดใหญ่ แต่ขณะนี้พบว่า การรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มีจำนวนไม่มาก เนื่องจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรคมากขึ้น ส่งผลให้โรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวมมีจำนวนผู้ป่วยที่ลดน้อยลง

นพ.อนุพงศ์กล่าว ขณะเดียวกัน โรคไข้เลือดออกนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมากโดยแพทย์ผู้วินิจฉัยโรคจะต้องมีความเชี่ยวชาญว่า หากพบผู้ป่วยมาทำการรักษาจะต้องวินิจฉัยโรคในลำดับแรกว่าควรจะตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยสารคัดหลั่ง หรือการเจาะเลือดเพื่อส่งตรวจหาโรคไข้เลือดออกก่อน เนื่องจากอาจจะมีการป่วย 2 โรคนี้ในเวลาเดียวกันได้

“ทั้งนี้จะต้องเน้นย้ำกับประชาชนว่าจะต้องให้ความร่วมมือ ในการป้องกันทั้งโรคไข้เลือดออกและโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมืออยู่เป็นประจำ ยิ่งหน้าฝนเข้ามาแล้ว การ์ดเราต้องสูง ต้องห้ามตก ต้องช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อไม่ให้โรคแพร่ระบาด” นพ.อนุพงศ์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image