ตู้ ‘โควิเคลียร์’ อีกนวัตกรรมป้องเชื้อโควิด

ตู้ 'โควิเคลียร์'

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังเป็นวิกฤตโลก ยังมีผู้ป่วยและเสียชีวิตต่อเนื่อง แม้นักวิทยาศาสตร์ในสาขาต่างๆ จะระดมสมองคิดค้นสูตรวัคซีนและยาต่างๆ แต่คงต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรกว่าจะมีการรับรองว่าช่วยรักษาและปลอดภัยต่อมนุษย์จริง

ดังนั้น ในช่วงรอยต่อนี้การป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 จึงยังเป็นมาตรการหลักเพื่อไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง

นอกจากระดับปัจเจกที่แต่ละคนจะต้องป้องกันตัวเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า หมั่นล้างมือ ใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาด และเว้นระยะห่างทางสังคม งดชุมนุมมั่วสุม ไม่ไปในแหล่งที่มีคนจำนวนมาก

ระดับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและธุรกิจ ก็ปรับโหมด เปลี่ยนไปทำงานจากบ้านกันมากขึ้น

Advertisement

แต่ยังมีบางอาชีพที่ไม่อาจเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดได้ โดยเฉพาะกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาต่างๆ และผู้ป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ

ดังนั้น จึงมีนวัตกรรมหลากหลายชิ้นทยอยออกมาช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เช่น หุ่นยนต์ช่วยส่งอาหารหรือยา ภายในโรงพยาบาล เพื่อลดการสัมผัสระหว่างหมอ พยาบาลกับผู้ป่วย

อีกนวัตกรรมหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาล

Advertisement

นั่นคือ “ตู้โควิเคลียร์” (CoviClear) หรือ “ตู้พ่นซิลเวอร์นาโนฆ่าเชื้อ” ถือเป็นตู้แรกของประเทศไทย

ตู้โควิเคลียร์

เป็นผลงานของทีมสหสาขาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วย ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน, ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล, ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา และ ภญ.ดร.ธีรยา มะยะกูล

เป็นการนำความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์มาผสมผสานกับนวัตกรรมเคมีภัณฑ์จากภาคเอกชนคือบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ “จีซี” และบริษัท NPC S&E จำกัด บริษัทในกลุ่ม “จีซี” ที่สนับสนุนน้ำยาฆ่าเชื้อ 2 ชนิด คือ 1.ไตรเอทานอลเอมีน (Triethanolamine: TEA) ที่มีคุณสมบัติ ช่วยให้อนุภาคของไอออนนาโนยึดเกาะเสื้อผ้าและผิวหนังของคน มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อนาน 24 ชั่วโมง และ 2.กลีเซอรีน (Glycerine) มีคุณสมบัติ ช่วยให้อนุภาคไอออนนาโนเป็นสารแขวนลอยในน้ำยาไม่เกิดการตกตะกอน ช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้น ไม่ระคายเคืองผิว

ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน ประธานกลุ่มสาขาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ตู้โควิเคลียร์ ใช้นวัตกรรม Nanotechnology Sanitizing Spray ที่มีส่วนผสมของอนุภาคนาโนซิลเวอร์ (Bioactive Silver Ion) หรือ “โลหะเงิน” และน้ำยาฆ่าเชื้อที่สามารถทำลายผนังเซลล์เชื้อโรค ทำให้เชื้อตาย พร้อมทั้งทำลายโปรตีน ทำให้เชื้อไม่สามารถแบ่งตัวต่อไปได้ ออกฤทธิ์ปกป้องนาน 24 ชั่วโมง ช่วยเสริมเกราะป้องกันบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนที่มาใช้บริการของโรงพยาบาล

คงกระพัน อินทรแจ้ง

เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพป้องกันเชื้อโรคผสานกับนวัตกรรมการฆ่าเชื้อโรคด้วยการปล่อยอนุภาคซิลเวอร์นาโน ผ่านหัวฉีดขนาดเล็กระดับไมครอน เพื่อให้ไอของสารดังกล่าว ไปจับกับเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้ออื่นๆ ที่ติดมากับตัวคน และเครื่องนุ่งห่มของผู้สวมใส่ ทำให้เซลล์เชื้อโรคถูกทำลายและตายลงโดยที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์

“นอกจากนี้ อนุภาคซิลเวอร์นาโนดังกล่าว ยังสามารถยึดติดกับผิวหนังและเครื่องนุ่งห่มของคนที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยตู้โควิเคลียร์ เพื่อทำหน้าที่ฆ่าเชื้อโรคที่มาสัมผัสกับผิวหนังหรือเสื้อผ้าได้อีกระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ลดความเสี่ยงจากเชื้อโรคได้ และจะสลายไปเมื่อมีการชำระล้างร่างกาย” ผศ.ดร.สุภาภรณ์ แจกแจงการทำงานของ “ตู้โควิเคลียร์”

ด้าน ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “จีซี” เสริมว่า “จีซี” สนับสนุนวัตถุดิบจากนวัตกรรมของกลุ่มบริษัท ที่ใช้ในการผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ 1.ไตรเอทานอลเอมีน (Triethanolamine: TEA) ซึ่ง “จีซี” เป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียวในประเทศไทย และ 2.กลีเซอรีน (Glycerine) รวมทั้งสนับสนุนการจัดทำตู้โควิเคลียร์ ช่วยลดความเสี่ยงกับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปที่จำเป็นต้องมาใช้บริการจากโรงพยาบาลต่างๆ ในภาวะวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ “จีซี” ยังสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น เสื้อกาวน์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Disposable Gown) ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติก InnoPlus ซึ่งบริจาคไปยังโรงพยาบาลต่างๆ รวม 84,000 ชุดแล้ว

รวมทั้งทราบว่าบุคลากรทางการแพทย์ยังมีความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ในลักษณะ Medical Suit เพื่อช่วยผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ขั้นรุนแรง จึงร่วมจัดหาวัสดุเพื่อจัดทำชุดอุปกรณ์ป้องกัน 500 ชุด เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบ โดยแต่ละชุดประกอบไปด้วยชุด Isolation Gown ทำจากผ้าสปันบอนด์ผสม Meltblown ผลิตจากเม็ดพลาสติก PP (Polypropylene) ชุด Coverall และหมวกอัดอากาศป้องกันการติดเชื้อ (PAPRs)

ชุดอุปกรณ์ป้องกันนี้ ทาง “จีซี” จะขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยี 3D Printing และออกแบบและพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช โดยคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เพื่อใช้ในโรงพยาบาล และโรงพยาบาลเครือข่าย ซึ่งคุณสมบัติของชุดอุปกรณ์ป้องกัน ในลักษณะ Medical Suit มีมาตรฐานสูง ใช้เฉพาะในห้องผ่าตัดและห้องไอซียู สำหรับคนไข้โควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง เพื่อป้องกันบุคลากรที่ทำหัตถการหรือที่อยู่ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น


“ส่วนตู้โควิเคลียร์ ที่ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลนี้ จะส่งมอบให้โรงพยาบาล 14 เครื่อง พร้อมน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของอนุภาคซิลเวอร์นาโน (
Bioactive Silver Ion) ซึ่งสามารถใช้งานได้สูงถึง 10,000 ครั้งต่อการเติมน้ำยา 5 ลิตร” ดร.คงกระพันให้ข้อมูลเสริมพร้อมระบุว่า “ตู้โควิเคลียร์” มีราคาประมาณ 1.5 แสนบาท หากผู้สนใจจะซื้อไปบริจาคให้โรงพยาบาล โดยประสานผ่าน “จีซี” จะได้ราคาพิเศษด้วย

 “ตู้โควิเคลียร์” นี้เป็นการผสมผสานระหว่างนวัตกรรมด้านเคมีภัณฑ์จากภาคเอกชนกับวิชาการด้านวิศวกรรมของภาคการศึกษา เป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งที่จะช่วยบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด-19

เพื่อจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้ไปด้วยกันอย่างปลอดภัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image