หมอยง ชี้ควบคุมโควิดให้เป็นศูนย์ ทำได้ยาก ตั้งคำถามสังคม ทำอย่างไรไม่ให้เกิดคลื่นลูกที่ 2

หมอยง ควบคุมโควิดให้เป็นศูนย์ ทำได้ยาก ตั้งคำถามสังคม ทำอย่างไรไม่ให้เกิดคลื่นลูกที่ 2

เมื่อวันที่ 23 เมษายน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า

โควิด-19 การกำหนดว่าเป็นเขตปลอดโรค

โดยหลักการของโรคระบาดตั้งแต่ SARS ไข้หวัดนก MERS ที่ระบาดในเกาหลี และ Ebola การจะบอกว่าพื้นที่ใดเป็นเขตปลอดโรคหรือไม่มีโรคจริงๆจะถือเอาเวลาเป็น 2 เท่าของระยะฟักตัวเช่นสมัย SARS ระยะฟักตัวให้ 10 วันก็จะต้องไม่มีโรคในพื้นที่นั้น 20 วันจึงจะถือว่าเป็นเขตปลอดโรค เช่นเดียวกันโควิด-19 ถ้าเราให้ระยะฟักตัวเป็น 14 วัน เราจะถือเขตปลอดภัยโรคของพื้นที่ใดจะต้องไม่มีโรคนั้นเป็นระยะเวลา 2 เท่าของระยะเวลาฟักตัว คือ 28 วัน จึงจะมั่นใจว่าในพื้นที่นั้นไม่มีโรคนี้จริง ๆ

การควบคุมการระบาดให้หมดไปแบบ SARS คงจะเป็นไปไม่ได้เพราะระบาดไปทั่วโลก จึงเป็นการยากที่จะทำให้เป็นศูนย์ ดังนั้นการจะใช้ตัวเลขให้โรคโควิด-19 หมดไปเป็นศูนย์ภายใน 14 วันหรือ 28 วันคงจะเป็นการยาก ทำอย่างไรเราจะไม่ให้เกิดคลื่นลูกที่ 2 เพราะเราควบคุมคลื่นลูกแรกได้ดีแล้ว การเกิดจำนวนน้อยที่อยู่ในปริมาณที่เราควบคุมได้และระบบสาธารณสุขรองรับได้ จะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และลดการศูญเสียทั้งทางสุขภาพร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจ และสังคม เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมมือกันให้ทุกคนอยู่ได้

Advertisement

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
23 เมษายน 2563

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image