สธ.เคลียร์ชัด แผนตรวจหา “โควิด-19” ทุกอณูของไทย 27 เม.ย.ลุยสมุทรสาคร

สธ.เคลียร์ชัด แผนตรวจหา “โควิด-19” ทุกอณูของไทย 27 เม.ย.ลุยสมุทรสาคร

โควิด-19 กรณีเกิดข้อสงสัยว่าการลงพื้นที่ตรวจค้นหาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในชุมชนพื้นที่แออัด และในกลุ่มแรงงานต่างๆ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการดำเนินการแล้วหรือไม่ และวิธีที่ใช้เก็บตัวอย่างนั้นเป็นการเก็บสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูก หรือลำคอ หรือใช้วิธีตรวจเสมหะน้ำลายนั้น

เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงว่า การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

กลุ่มที่ 1 ผู้เข้าข่ายเกณฑ์การสอบสวนโรค (PUI) จะต้องตรวจโดยสถานพยาบาล วิธีการตรวจที่ทางองค์การอนามัยโลกแนะนำว่าเป็นมาตรฐานคือ RT-pcr เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงและจำเป็นต้องมีความแม่นยำในการวินิจฉัย

กลุ่มที่ 2 การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (active case finding) เป็นการหาผู้ป่วยในความเสี่ยงสูง เพื่อนำมาวินิจฉัยและควบคุมโรค ดังนั้นจะต้องลงตรวจในชุมชน

Advertisement

กลุ่มที่ 3 เป็นการเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มที่อยู่กันอย่างแออัด กลุ่มผู้ขับรถสาธารณะ ซึ่งในส่วนนี้จะต้องมีการกำหนด สถานที่และอาชีพเสี่ยงต่อไป และขณะนี้มีการดำเนินไปแล้วในพื้นที่มีความเสี่ยงสูงคือกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทำการตรวจไปมากกว่า 1,000 ราย มีการติดเชื้อแต่ไม่มากนัก ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต ทำการตรวจไปหลายพันราย และการค้นหาเชิงรุกใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ผู้ที่อยู่ในสถานกักกันคนเข้าเมือง ด้วยการส่งตรวจเชิงรุก การตรวจในผู้ที่อยู่ในระหว่างการกักกันในสถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ (state quarantine)

“ส่วนเรื่องของจำนวนที่ได้ตรวจไปแล้วอยู่ระหว่างรวบรวม แต่จากการคำนวณคร่าวๆ เกินหลายหมื่นราย แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงถัดจากนี้เป็นต้นไปจะมีการระบุว่าต้องเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงใด และจะต้องค้นหาเชิงรุกให้มากขึ้นอย่างไร ทั้ง สธ.จะเป็นผู้ระบุกลุ่มและสถานที่เสี่ยง หลังจากนั้น จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่จะต้องไประบุอีกครั้งหนึ่งว่าในจังหวัดนั้นๆ จะอย่างไร” นพ.โอภาส กล่าว

นอกจากนี้ นพ.โอภาส กล่าวว่า ในการตรวจหาเชื้อในคนกลุ่มมาก อาจจะต้องอาศัยทางเลือกด้วยการตรวจเสมหะน้ำลาย ซึ่งผู้รับการตรวจสามารถเก็บตัวอย่างได้เอง เพื่อเป็นการประหยัดทรัพยากรของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องเข้าไปเก็บตัวอย่าง คาดว่าในวันที่ 27 เมษายนนี้ จะลงพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ส่วนจังหวัดอื่นๆ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดได้กำหนดระบุพื้นที่ที่จะลงไปตรวจ โดย สธ.จะต้องสนับสนุนห้องแล็บ

Advertisement

ส่วนกรณีผู้ที่สงสัยว่า RT-lamp และ RT-pcr มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรนั้น นพ.โอภาส กล่าวว่า ทั้ง 2 คำ เป็นศัพท์ทางเทคนิคในเรื่องของการตรวจทางห้องแล็บ โดยหลักการจะเหมือนกัน คือ การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส มีความแม่นยำสูง แต่มีความแตกต่างกันเล็กน้อย เช่น lamp มาจากคำว่า Loop-mediated isothermal amplification เป็นเทคนิคที่ง่ายกว่า ด้วยการใช้สารพันธุกรรมในใช้อุณหภูมิเร่งปฏิกิริยาที่ค่อนข้างคงที่ และเป็นเทคนิคใหม่อยู่ในระหว่างการพัฒนา

“หากมีประสิทธิภาพที่แม่นยำ ก็จะมีการขยายการตรวจให้กว้างขวางขึ้น โดยขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี กำลังพัฒนาชุดตรวจนี้ คาดว่าภายในเดือนพฤษภาคมนี้จะมีการตรวจให้ครอบคลุมกว้างขวางขึ้น เนื่องจากการตรวจ Lamp โรงพยาบาลชุมชนสามารถใช้ตรวจได้ โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องมือมาก” นพ.โอภาส กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image