สธ.แนะเปิด ‘กิจการเสี่ยงต่ำ-บริการพื้นฐาน’ พร้อมกันทุก จว.สกัดข้ามพื้นที่ ‘บุฟเฟต์’ กิน 30-45 นาที

สธ.แนะเปิด ‘กิจการเสี่ยงต่ำ-บริการพื้นฐาน’ พร้อมกันทุก จว.สกัดข้ามพื้นที่ ‘บุฟเฟต์’ กิน 30-45 นาที

โควิด-19 เมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวถึงแนวทางการเปิดสถานบริการบางชนิดในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19 ว่า การเปิดกิจการหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำก่อน ควรจะเปิดได้ในทุกจังหวัด เช่น ร้านตัดผม ร้านอาหาร ร้านขายสินค้า เป็นการดูความเสี่ยงจากลักษณะของกิจการมากกว่าความเสี่ยงของจังหวัด 5 สีพื้นที่ในประเทศไทย ส่วนใน 9 จังหวัด ที่ไม่มีโรคระบาดเลยก็อาจจะอนุญาตให้เปิดเร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องฟังมติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งวันนี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีการประชุมหารือกัน เพื่อนำเข้า ครม.ในวันที่ 28 เมษายน พิจารณาต่อไป

นพ.โสภณ กล่าว ในส่วนของการพิจารณาแนวทางเปิดกิจการบริการต่างๆ เป็นการหารือร่วมกัน แต่ยึดหลักจาก สธ.ที่เป็นผู้ออกแบบแนวทาง เช่น จะต้องมีการวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าสถานที่ มีการบริการ           เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ การจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล รวมถึงลดความเสี่ยงในผู้ให้บริการ เช่น แม่ค้าขายของ จะต้องมีการป้องกันตนเอง สวมหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ป้องกันใบหน้า ส่วนในข้อเสนอที่จะให้เริ่มดำเนินการเปิดเมืองในบางจังหวัดก่อนนั้น เป็นข้อเสนอจากหลายฝ่าย แต่อย่างไรก็ตาม จะขึ้นอยู่กับมติ ครม. คงไม่ได้ใช้เกณฑ์ใดเกณฑ์เดียว แต่หลักคิดสำคัญคือ จะไม่เพิ่มความเสี่ยง และในการเปิดกิจการใดก่อนก็ควรจะเป็นกิจการที่มีความจำเป็นสูง มีความเสี่ยงที่พอรับได้ เนื่องจากทุกกิจการมีความเสี่ยงเสมอ อยู่ที่ว่าจะรับความเสี่ยงได้หรือไม่

แฟ้มภาพ

 

 

Advertisement

“แนวคิดคือ ในทุกจังหวัดจะต้องมีบริการพื้นฐาน เช่น จังหวัด ก. มีการเปิดร้านตัดผมได้ จังหวัด ข.เปิดไม่ได้ ก็อาจจะส่งผลให้ประชาชนเดินทางข้ามจังหวัด เพื่อเข้าใช้บริการ ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเดินทาง และในการแบ่งจังหวัดตามกลุ่มสีเพื่อต้องการให้เห็นปัญหาว่า ปัจจุบันมีปัญหาชัดอยู่ตรงไหนบ้าง และแบ่งด้วยวิธีการทางสาธารณสุขเป็นหลัก เช่น หากบอกว่าพื้นที่ไหนมีการระบาดอยู่เยอะ ก็จะต้องมีการทุ่มทรัพยากรไปเข้าสอบสวนควบคุมโรค หากพื้นที่ไม่พบผู้ป่วยใหม่เกิน 28 วัน แสดงว่าปัญหาในพื้นที่คุมได้แล้ว ถ้าจะป้องกันคือ ป้องกันอย่าให้เข้ามาใหม่ แต่สุดท้าย พวกนี้อาจไม่ได้เป็นเกณฑ์ในการเปิดกิจการ เพราะทุกจังหวัดมันควรจะมีกิจการพื้นฐานไม่งั้นประชาชนคงจะลำบาก” นพ.โสภณ กล่าว

นอกจากนี้ นพ.โสภณ กล่าวว่า มาตรการทำงานที่บ้านที่ควรจะทำต่อไป ในหน่วยงานภาคสำนักงาน รัฐวิสาหกิจ ข้าราชการ ฟรีแลนซ์ และหน่วยงานเอกชน โดยในความคิดเห็นส่วนตัว คือ เน้นในการลดการเดินทาง อาจจะมีการเดินทางวันเว้นวัน แต่หากไม่สามารถเดินทางวันเว้นวันได้ ก็ควรใช้มาตรการเหลื่อมเวลา ให้ประชาชนพบกันน้อยในช่วงเร่งด่วน สามารถทำต่อไปได้แม้ว่าจะกลับมาทำงานกันทุกวัน เนื่องจากวิธีการลดระยะห่างไม่ได้มีวิธีเดียว แต่หลักๆ คือ ลดความหนาแน่น เช่น กระจายการทำงาน เพิ่มช่วงทำงานในวันเสาร์-อาทิตย์ และหยุดในวันธรรมดา หากเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมแต่ก็ไม่เต็ม 100% ส่วนในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวรวมถึงคนไทยเองนั้น เช่น ตลาดน้ำ ตลาดนัดใหญ่ๆ ควรเปิด แต่จะต้องมีมาตรการลดความเสี่ยงน้อยลง

“หากเราไม่เปิดกิจการเหล่านี้ ก็เท่ากับว่าเรากำลังจะเลิกกิจการเหล่านั้นในประเทศไทย ซึ่งจริงๆ แล้ว สำหรับผมคิดว่าเปิดได้ แต่ต้องจัดมาตรการดีๆ ลดจำนวนคนช็อปปิ้งในแต่ละช่วงเวลา ทำให้ดูมีคุณค่ามากขึ้น ฝรั่งที่เข้ามาเที่ยว 100 คน ก็ยืนต่อคิว เข้าได้ทีละ 20 คน เข้าไปก็จำกัดเวลา โดยรวมๆ แล้วให้สถานที่ตรงนั้นมีคนไม่หนาแน่นเกินไป และที่สำคัญที่สุดคือ สวมหน้ากากอนามัย เราจะต้องทำเป็นเกณฑ์และกติกา เพื่อลดความเสี่ยง แต่ก็ยังได้เที่ยว เพราะถ้าเลิกธุรกิจประเภทนั้นในประเทศไทยไปเลย ก็น่าเสียดาย” นพ.โสภณ กล่าว

Advertisement
แฟ้มภาพ

นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนในร้านอาหารที่เป็นลักษณะบุฟเฟต์ (Buffet) ก็อาจจะเปิดในการใช้มาตรการจำกัดระยะเวลาในการรับประทานอาหารให้สั้นลง เช่น 30-45 นาที อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้จะมีคณะทำงานค่อยๆ คิด วิเคราะห์รายละเอียดออกมา เพื่อลดความเสี่ยง สธ.ร่วมกันคิดกับภาคเอกชน เพื่อร่วมกันหาทางออกว่าสิ่งใดเหมาะสมหรือปฏิบัติได้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image