‘เอสซีจี’ หั่นงบลงทุนปี 63 เหลือ 5.5-6.5 หมื่นลบ. หลังแนวโน้มศก.ไม่สดใส แถมกำไรไตรมาสแรกวูบ 40%

‘เอสซีจี’ หั่นงบลงทุนปี 63 เหลือ 5.5-6.5 หมื่นลบ. หลังแนวโน้มศก.ไม่สดใส แถมกำไรไตรมาสแรกวูบ 40%

 นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯในไตรมาสที่1/2563 มีรายได้จากการขาย 105,741 ล้านบาท ลดลง 6% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 เนื่องจากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลง ตามความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่ลดลง แต่ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาส 4/2562 โดยมีกำไรอยู่ที่ 6,971 ล้านบาท ลดลง 40% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 และลดลง 2% หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ตามผลการดำเนินงานที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์ เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้าลดลง

 โดยในไตรมาส 1 บริษัทฯมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม 46,120 ล้านบาท หรือ 44% ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสก่อน โดยใช้งบลงทุนด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกว่า1,372 ล้านบาท คิดเป็น 1.3% ของยอดขายรวม โดยรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ในไตรมาส 1 รวมประมาณ 44,859 ล้านบาท หรือ 42% ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งบริษัทฯมีรายได้จากการส่งออกอยู่ที่ 24,319 ล้านบาท หรือ 23% ของยอดขายรวม ลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้สินทรัพย์รวมของบริษัทฯ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีมูลค่ากว่า 708,931 ล้านบาท แบ่งเป็นสินทรัพย์ในอาเซียนประมาณ 34%

 นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 แยกตามรายธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจเคมิคอลส์ มีรายได้จากการขาย38,329 ล้านบาท ลดลง 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะราคาผลิตภัณฑ์และปริมาณขายที่ปรับตัวลดลง โดยมีกำไร 1,778 ล้านบาท ลดลง 70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมลดลงและส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลง ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีรายได้จากการขาย 46,245 ล้านบาทลดลง 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการในประเทศที่ลดลง โดยมีกำไรสำหรับงวด 2,778 ล้านบาท ลดลง 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 สำหรับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (แพคเกจจิ้ง) มีรายได้จากการขาย 24,267 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากการทำงานเชิงรุกในทุกหน่วยงานภายใน เพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น โดยมีกำไร 1,732 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

Advertisement

 “ในแง่เชิงธุรกิจผลกระทบของโควิด-19 ในไตรมาส 1 ยังไม่ชัดมากนัก เพราะเริ่มชัดเจนจริงๆ คือ เดือนมีนายนคมที่ผ่านมา โดยธุรกิจบรรจุภัณฑ์ยังไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับของกิน ส่วนที่จะเริ่มส่งผลกระทบในระยะถัดไปคือ สินค้าจำพวกเครื่องใช้ ที่ไม่ได้ซื้อบ่อยนัก อีกจำพวกเป็นรองเท้า หรือสินค้าแฟชั่นต่างๆ

 ส่วนธุรกิจเคมิคอลส์พวกของใช้ประจำวัน หรืออาหารยังไปได้ แต่บางกลุ่มก็เริ่มได้รับผลกระทบแล้ว อาทิ ยานยนต์ ซึ่งคาดว่าอาจได้รับผลกระทบโดยตรงในะระยถัดไป อีกปัจจัยที่อาจไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรง คือ ราคาน้ำมัน ที่มีความผันผวนค่อนข้างมาก และมีสาเหตุมาจากความต้องการใช้ที่ลดลง ทำให้ราคาน้ำมันผันผวนและอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีผลกระทบกับธุรกิจในระดับหนึ่ง อีกส่วนเป็นธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในไตรมาสแรกยังไม่เห็นผลกระทบมากนัก แต่ขณะนี้ในแง่ของภาคเอกชนเริ่มเห็นถึงความท้าทายแล้วว่ามีมากขึ้น ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้างที่เป็นลักษณะโครงการระยะยาว ซึ่งคาดว่าในระยะถัดไปจะมีผลกระทบมากขึ้น หวังว่าภาครัฐจะมีนโยบายคงไว้ เพื่อให้อย่างน้อยมีส่วนช่วยพยุงทำให้ความต้องการใช้สินค้าคงอยู่ได้ จนกว่าโควิด-19 จะคลายตัวได้นายรุ่งโรจน์กล่าว

 นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า บริษัทฯได้ปรับลดสัดส่วนรายจ่ายลงทุนและเงินลงทุนที่จะเกิดขึ้นในปี 2563 จากเดิมที่ตั้งไว้60,000-70,000 ล้านบาท มาอยู่ที่ประมาณ 55,000 – 65,000 ล้านบาท โดยได้พิจารณาจากสภาพการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และการดำเนินงานด้านโครงการขยายกำลังการผลิต การก่อสร้างโรงงานใหม่ และการปรับปรุงประสิทธิภาพต่างๆ โดยโครงการที่เป็นประโยชน์จริงๆ จะยังคงไว้ ส่วนโครงการที่สามารถเลื่อนหรือชะลอได้ จะดำเนินการเลื่อนไปก่อน

Advertisement

 ส่วนรายจ่ายลงทุนและเงินลงทุนไตรมาส 1 มีมูลค่าเท่ากับ 12,261 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนการลงทุนธุรกิจเคมิคอลส์ 55% ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง21% ธุรกิจแพคเกจจิ้ง 20% และส่วนงานอื่น 4% สำหรับภาพรวมธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างในไตรมาส 1 ตลาดปูนซีเมนต์ ในประเทศไทยหดตัวลง 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยความต้องการภาครัฐ ที่มีสัดส่วนประมาณ 40% ของตลาดหดตัวลดลง 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ความต้องการภาคเอกชนและภาคครัวเรือนที่มีสัดส่วนประมาณ 60% ของตลาดหดตัวลดลง 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 ด้านราคาเฉลี่ยปูนซีเมนต์ เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ช่วงราคาประมาณ 1,800 – 1,850 บาทต่อตัน จากการนำเสนอโซลูชันที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น

 นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า ในส่วนของการจ้างงาน และการลดกำลังการผลิต แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การที่ยอดขายปรัยลดลงมาจากราคาขายที่ปรับลดลง อีกส่วนลดลงจากความต้องการของตลาดที่ลดลง โดยหากลงจากราคาขายที่ลง จะไม่มีผลกระทบกับกำลังการผลิต แต่หากลงเพราะปริมาณความต้องการลดลง ก็จะส่งผลกระทบกับกำลังการผลิต ซึ่งบริษัทฯจะพยายามทำงานเต็มที่ เพื่อสามารถหาจุดในการปรับแผนดำเนินงานของธุรกิจ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับการจ้างงานเกิดขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image