กก.โรคติดต่อแห่งชาติ เคาะ 4 กลุ่มกิจการ ควรเปิดบริการช่วง “โควิด-19” เผย ชง ศบค.แล้ว

กก.โรคติดต่อแห่งชาติ เคาะ 4 กลุ่มกิจการ ควรเปิดบริการช่วง “โควิด-19” เผย ชง ศบค.แล้ว

กก.โรคติดต่อแห่งชาติ- เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติครั้งที่ 6/2563 โดยมี นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค และอธิบดีทุกกรม ผู้บริหารกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมประชุม

นายอนุทิน แถลงภายหลังการประชุมว่า คณะกรรมการชุดนี้มีบทบาทที่สำคัญมากในการพิจารณากำหนดทิศทาง และมอบอำนาจให้แก่ส่วนราชการทั้งหลายภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)โรคติดต่อแห่งชาติ และโรคติดต่ออันตราย และมีหน้าที่ให้คำแนะนำกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ต่อไป ซึ่งเป็นการทำงานแบบบูรณาการ ขณะนี้เป็นเวลาเกือบ 4 เดือนเต็มที่รัฐบาลโดย สธ. หน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชน ได้ร่วมมือร่วมใจป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 จนประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ ถือว่าประเทศไทยควบคุมโรคได้ โดยผู้ป่วยร้อยละ 90 หายป่วยกลับบ้านได้แล้ว พบผู้ป่วยรายใหม่เลขตัวเดียวติดต่อกัน 3 วันแล้ว วันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่ 9 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม

“อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องป้องกันการเข้ามาของผู้ป่วยจากต่างประเทศ โดยสำนักงานการบินพลเรือนได้ออกประกาศห้ามการเดินทางเข้าประเทศไทยทางอากาศยานต่อไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 และแม้ในระยะต่อไปจะมีมาตรการผ่อนปรน ก็ต้องมีการเตรียมตัวและมีมาตรการป้องกันความเสี่ยง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสถานการณ์จะควบคุมได้ ไม่มีการระบาดภายในประเทศอีก” นายอนุทิน กล่าว

Advertisement

นายอนุทิน กล่าวว่า ในวันนี้คณะกรรมการฯ ได้มีมติรับทราบข้อเสนอจากคณะกรรมการด้านวิชาการ ซึ่งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้นำข้อเสนอแนวทางการผ่อนปรนกิจการ/กิจกรรมในการควบคุมโรคโควิด-19 หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอแบ่งกลุ่มกิจการ/กิจกรรมที่สามารถเปิดกิจการได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กิจการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวันระดับพื้นฐาน เช่น ร้านอาหารที่เปิดโล่ง ร้านตัดผมที่ไม่มีแอร์คอนดิชั่น ตลาด 2.กิจการ/กิจกรรมที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก และต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคาร นวดแผนไทย 3.กิจการ/ กิจกรรมที่เพิ่มความสะดวกสบายต่อการใช้ชีวิต เช่น ฟิตเนส โรงยิม สปา กองถ่ายภาพยนตร์ และ 4.กิจการ/ กิจกรรมที่ไม่ควรให้เปิดดำเนินการ คือสถานที่ที่เป็นที่แออัด คับแคบ ปิดทึบ มืดสลัว ทำให้มองพื้นผิวสัมผัสไม่ชัดเจน และ/หรือมีกิจกรรมที่ทำให้ผู้คนต้องมีความใกล้ชิดกัน มีการรวมกลุ่มกัน มีการพูดคุยกันหรือส่งเสียงดัง เช่น สนามมวย บ่อน สถานบันเทิง

“ทั้งนี้ ทุกกิจการ/กรรมต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และเน้นมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลทุกแห่ง ซึ่งได้เสนอข้อมูลดังกล่าวต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานทราบแล้ว” นายอนุทิน กล่าว

นอกจากนี้ นายอนุทิน กล่าวว่า รวมทั้งเห็นชอบแนวทางการตรวจหาเชื้อไวรัส เพื่อการเฝ้าระวังในกลุ่มประชากรเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ โดยเพิ่มอัตราการตรวจจาก 2,000 คนต่อประชากร 1 ล้านคน เป็น 5,000 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ซึ่งจะทำให้มีความมั่นใจในการเฝ้าระวังและตรวจพบผู้ป่วยได้เร็ว โดยกำหนดกลุ่มประชากรที่ต้องเฝ้าระวังเรียงลำดับ ดังนี้ 1.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ 2.ผู้ต้องขังรายใหม่ 3.กลุ่มอาชีพที่พบปะผู้คนจำนวนมาก เช่น คนขับหรือพนักงานประจำรถสาธารณะ พนักงานไปรษณีย์ และพนักงาน 4.กลุ่มอื่นๆ ตามสถานการณ์ของพื้นที่ ทั้งนี้ต้องให้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image