กทม.ห่วง ‘ตลาด’ แหล่งแพร่เชื้อ ‘โควิด-19’ แนะ ปชช.รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลให้มากที่สุด

กทม.ห่วง ‘ตลาด’ แหล่งแพร่เชื้อ ‘โควิด-19’ แนะ ปชช.รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลให้มากที่สุด

ตลาด- เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 36/2563 ว่าสำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 วันนี้ (1 พฤษภาคม 2563) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบยอดผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่ม 1 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม รวม 1,489 คน ผู้ป่วยรักษาหายสามารถกลับบ้านได้เพิ่มเติม จำนวน 19 คน ยอดรวมผู้ป่วยรักษาหาย จำนวน 1,389 คน ผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษา 76 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม รวมผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 24 คน

“ทั้งนี้ ที่ประชุมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเชิงรุกโดยตรวจคัดกรองให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเสี่ยง เพราะถ้าหากค้นพบผู้มีเชื้อได้เร็วขึ้นเพียงใด ก็จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้รวดเร็วและประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น คือ เมื่อพบผู้ติดเชื้อและนำมารับการรักษา ก็จะสามารถลดการแพร่เชื้อจากบุคคลดังกล่าวได้ และสามารถขยายผลโดยการสอบสวนโรคหาแหล่งที่มาของการติดเชื้อเพื่อควบคุมยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคต่อไป” พล.ต.ท.โสภณกล่าว

นอกจากนี้ พล.ต.ท.โสภณกล่าวว่า ที่ประชุมยังได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ประชาสัมพันธ์ตามมาตรการต่างๆ ของกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการรักษาระยะส่วนบุคคลในทุกสถานที่ ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน และที่สาธารณะ โดยเฉพาะการเพิ่มระยะห่างของสมาชิกในครอบครัว ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางกายภาพ 1-2 เมตร (Physical Distancing) รวมถึงหมั่นทำความสะอาดบริเวณที่มีการสัมผัสร่วมกันบ่อยๆ เช่น พื้นผิวโต๊ะ ลูกบิดประตู ก๊อกน้ำ ด้วยแอลกอฮอล์ หรือน้ำผสมน้ำยาที่มีคลอรีนเป็นส่วนผสม ขอให้ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้านหรือเดินทางไปในที่สาธารณะ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส

รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ในส่วนของตลาด หรือตลาดนัด ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสุขอนามัยสำหรับตลาด ดังนี้ สำหรับเจ้าของตลาด ให้ติดตามสถานการณ์และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกัน และให้ความรู้หรือสื่อสารสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติตัวของผู้ค้าและผู้ปฏิบัติงาน เช่น การสวมหน้ากากที่ถูกวิธี และขั้นตอนการล้างมือที่ถูกต้อง เป็นต้น จัดให้มีการตรวจคัดกรองสุขภาพเบื้องต้นให้แก่ผู้ค้าและผู้ปฏิบัติงานในตลาดทุกราย ทุกวัน ก่อนปฏิบัติงาน หากพบผู้ค้าหรือผู้ปฏิบัติงานมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดขายหรือหยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์ทันที รวมถึงจัดทำคำแนะนำหรือแบบประเมินตนเอง (Self-check) ในการดูแลตนเอง เพื่อให้ผู้ค้าและผู้ปฏิบัติงานได้มีการตรวจสอบสุขภาพเบื้องต้น

Advertisement

พล.ต.ท.โสภณกล่าวว่า หากพบว่ามีผู้ป่วยยืนยัน หรือมีข้อมูลบ่งชี้ว่าสถานที่นั้นเป็นจุดแพร่เชื้อ ให้ดำเนินการตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เช่น ทำความสะอาดฆ่าเชื้อทันที ภายใน 24 ชั่วโมง ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ดูแลรักษาบริเวณตลาดให้สะอาด ถูกสุขลักษณะ มีการระบายอากาศที่เหมาะสม ทำความสะอาดบริเวณพื้น ทางเดิน แผงจำหน่ายสินค้าอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ด้วยน้ำผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโดยคลอรีนเข้มข้น 100 ส่วนในล้านส่วน (ใช้ผงปูนคลอรีน 60% ในอัตราส่วน 1 ช้อนชาต่อน้ำ 20 ลิตร) กรณีที่พบผู้ป่วยหรือมีความเสี่ยง ให้เพิ่มความเข้มข้นของคลอรีนเป็น 1,000 ส่วนในล้านส่วน (ใช้ผงปูนคลอรีน 60% ในอัตราส่วน 2 ช้อนชาต่อน้ำ 20 ลิตร) ทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องส้วมที่ใช้ในตลาด โดยเน้นบริเวณจุดเสี่ยง เช่น ที่จับสายฉีดชำระ ที่รองนั่งโถส้วม ที่กดโถส้วม โถปัสสาวะ ที่เปิดก๊อกอ่างล้างมือ และกลอนประตูหรือลูกบิด เป็นต้น

“รวมทั้งทำความสะอาดก๊อกน้ำที่ใช้ภายในตลาด โดยใช้น้ำยาทำความสะอาดและล้างด้วยน้ำให้สะอาด จัดให้มีที่ล้างมือ น้ำและสบู่สำหรับล้างมือ หรือเจลแอลกอฮอล์ จัดให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลในการเลือกซื้อสินค้าอย่างน้อย 1 เมตร งดการให้บริการพื้นที่นั่งในแผงจำหน่ายอาหารพร้อมบริโภค หรือบริเวณที่จำหน่ายอาหารพร้อมบริโภค (ศูนย์อาหารในตลาด) เพิ่มช่องทางการชำระค่าบริการเป็นแบบ E-Payment เพื่อลดการสัมผัสธนบัตร มีการจัดการขยะที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค เป็นต้น” รองผู้ว่าฯกทม.กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image