สสส.-สธ.ลุยใช้กลไก ‘อสต.’ ให้ความรู้ต่างด้าว เผย ‘สมุทรสาคร’ ไม่พบแรงงานข้ามชาติติด ‘โควิด-19’

สสส.-สธ.ลุยใช้กลไก “อสต.” ให้ความรู้ต่างด้าว เผย “สมุทรสาคร” ไม่พบแรงงานข้ามชาติติด “โควิด-19” แม้แต่รายเดียว

แรงงานต่างด้าว- เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.สนับสนุนการดำเนินงานโครงการตำบลจัดการสุขภาพเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีพื้นที่ทำงาน 152 ตำบลทั่วประเทศ ผลักดันอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า 1 ล้านคน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนให้เกิดชุมชนสร้างสุขทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และรายได้ แต่ในช่วงระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานตามสถานการณ์ จนเกิดเป็นกิจกรรม “อสม.เคาะประตูบ้าน ต้านโควิด-19” เช่นเดียวกับพื้นที่ของ จ.สมุทรสาคร ที่มีแรงงานข้ามชาติประมาณ 2-3 แสนคน (เฉพาะที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน) เป็นชาวเมียนมามากที่สุด รองลงมาคือ ลาว และกัมพูชา จึงเกิดการใช้กลไกของอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เข้าไปให้ความรู้กับประชากรกลุ่มนี้เกี่ยวกับการดูแลป้องกันตัวเองจากโควิด-19 โดยใช้สื่อที่ สสส. ผลิตร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องโควิด-19 กับกลุ่มประชากรข้ามชาติ 3 ภาษา ได้แก่ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศไทย

“ต้องขอชื่นชมไปยัง อสต.ที่ปฏิบัติหน้าที่ออกให้ความรู้อย่างเข้มแข็งเป็นประจำต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีวิสัยทัศน์ที่ดีมากในเรื่องนี้ ส่งผลให้มีนโยบายปฏิบัติที่ชัดเจน โดยปัจจุบัน จ.สมุทรสาคร ยังไม่พบผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นแรงงานข้ามชาติแม้แต่รายเดียว” พญ.ขจีรัตน์กล่าว

Advertisement

นายกิตติ เรืองวิไลพร พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ และครูฝึก อสต.กล่าวว่า ปัจจุบัน อสต.มีสมาชิกประมาณ 400-500 คน (จากทั้งหมด 3,090 คน ในระยะ 10 ปี) กระจายใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.บ้านแพ้ว และ อ.กระทุ่มแบน มีที่มาจากการคัดเลือกของผู้ประกอบการ และการชักชวนกันมาอบรม ในช่วงเวลาปกติ อสต. จะทำหน้าที่ประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและแรงงานข้ามชาติ เพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่อในชุมชน แต่ในช่วงระบาดโควิด-19 ได้นำรถโมบายออกไปให้ความรู้แก่พี่น้องแรงงานข้ามชาติตามชุมชนต่างๆ ที่มักอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม โดยนำสื่อการดูแลตัวเองหลายภาษาของ สสส. สธ.และภาคีเครือข่าย ไปประชาสัมพันธ์ให้กับกลุ่มเป้าหมายรับทราบ เพื่อแก้ไขปัญหาการรับข้อมูลข่าวสารน้อยกว่าคนไทย อันเนื่องมาจากข้อจำกัดทางด้านภาษา

“หลังจากให้ความรู้กับกลุ่มแรงงานไปพบว่าหลายครอบครัวรู้จักใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยขึ้น มีระยะห่างทางสังคมมากขึ้น ส่วนการใส่หน้ากากผ้านั้นทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว เพราะต้องทำงานในโรงงาน หรือเป็นแรงงานประมงต่อเนื่อง มีติดบ้านกันคนละ 3-4 ชิ้น ไม่ได้เป็นอุปสรรคหาซื้อ ขณะที่สภาพจิตใจพบว่า ส่วนใหญ่มีกำลังใจที่ดี ไม่เกิดความเครียดในการทำงาน และมีจำนวนน้อยมากที่เดินทางกลับบ้านเกิด ซึ่งเชื่อกันว่าสถานการณ์กำลังดีขึ้น รัฐบาลสามารถรับมืออยู่” นายกิตติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image