สธ.เผยช่วง 1 เดือน ไทยปลอด “โควิด-19” มากกว่าครึ่งประเทศ

สธ.เผยช่วง 1 เดือน ไทยปลอด “โควิด-19” มากกว่าครึ่งประเทศ

โควิด-19 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า จากการติดตามเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม ประเทศไทยเริ่มพบการระบาดของโรคโควิด-19 ในบางพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่จัดเป็นพื้นที่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมไปถึงจังหวัดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว

“เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทราบว่า มีการแพร่ระบาดของโรคก่อนที่จะกระจายไปในจังหวัดอื่นๆ หากดูจากกราฟสีของประเทศไทย จะพบว่า กลางเดือนมีนาคม พื้นที่สีเขียว คือ พื้นที่ไม่พบผู้ป่วยยืนยันเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากพบผู้ป่วยในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น แต่ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะพบว่าพื้นที่สีเขียวกลับมาเพิ่มขึ้น โดยในขณะนี้มีกลุ่มจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยรายสุดท้ายในระยะ 28 วันที่ผ่านมา จำนวน 34 จังหวัด และมีจังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยใน 28 วันที่ผ่านมา จำนวน 34 จังหวัด และมีจังหวัดที่ไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยมาก่อนเลยอีก 9 จังหวัด” นพ.โสภภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า ดังนั้น การผ่อนปรนมาตรการตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมเป็นต้นมา แม้ว่าจะมีการงดให้บริการรถโดยสารข้ามจังหวัด อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนส่วนหนึ่งที่สามารถเดินทางด้วยรถส่วนตัวได้ ก็จะเป็นความเสี่ยงที่เราจะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า ดังนั้นมาตรการสำคัญที่รัฐบาลแนะนำยังคงต้องดำเนินการต่อไป

Advertisement

“จะพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยแล้วมากกว่า 4 สัปดาห์ ดังนั้น เป็นสิ่งที่สบายใจได้ในระดับหนึ่งว่า เราสามารถควบคุมโรคได้ ถ้าหากทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน แต่ที่สำคัญที่สุดคือประชาชน ดังนั้นเมื่อกลับมามีการเดินทางพบปะกันมากขึ้น มีกิจการที่เปิดให้บริการมากขึ้น ทำให้มีประชาชนเข้าไปใช้บริการมากขึ้นและในวันนี้เองก็ยังเป็นวันหยุด ก็จะมีคนเข้าไปใช้บริการในสถานที่ต่างๆ มากขึ้น จึงต้องมีความระมัดระวัง เพื่อให้เรามั่นใจได้ว่าโรคโควิด-19 จะไม่กลับมาแพร่ระบาดในประเทศไทย” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวว่า ภายหลังจากที่มีการเปิดให้บริการ 6 กิจการ พบว่ามีประชาชนเข้าไปใช้บริการมากขึ้นโดยมีพฤติกรรมการสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ซึ่งถ้าหากปฏิบัติได้ถึง 100% จะเป็นเรื่องที่ดีมาก เพื่อป้องกันการแพร่/รับเชื้อ รวมถึงจะต้องเว้นระยะห่างทางสังคมให้ได้ประมาณ 2 เมตร เพื่อให้เป็นการผ่อนปรนมาตรการอย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทราบว่ามีการกลับมาระบาดภายในชุมชนหรือไม่ เนื่องจากมีโอกาสที่เชื้อจะกลับมาระบาดใหม่ เพราะว่าประชาชนพบปะกันมากขึ้น รวมถึงทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยง เช่น การรับประทานอาหารร่วมกัน การสังสรรค์ โดยจะเห็นได้ว่าในหลายจังหวัดได้ดำเนินการเฝ้าระวัง คัดกรองผู้ที่มีอาการป่วยเพียงเล็กน้อยเพื่อเฝ้าระวังผู้ป่วยในชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและควรปฏิบัติ

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image