สธ.แจงเหตุ ‘ยะลา’ ตรวจ ‘โควิด-19’ 40 คน สับสน ยันรู้คำตอบแล็บที่ 3 พรุ่งนี้!

สธ.แจงเหตุ ‘ยะลา’ ตรวจ ‘โควิด-19’ 40 คน สับสน ยันรู้คำตอบแล็บที่ 3 พรุ่งนี้!

ตรวจโควิด-19 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกระบวนการทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่ใช้ในการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 หลังจากพบปัญหาผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในประชาชน 40 คน ของ จ.ยะลา ให้ผลเป็นบวก แต่ผลตรวจรอบที่ 2 จากห้องแล็บของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สงขลา ระบุว่าผลเป็นลบทั้งหมด จนต้องมีการส่งตัวอย่างเชื้อไปรอบที่ 3 ว่าเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ทั่วโลกรู้จักกับโรคนี้ประมาณ 4-5 เดือนเท่านั้น โดยในช่วงแรกการตรวจทางห้องแล็บที่สามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยมีเพียง 2 แห่งคือ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

“หากไม่นับประเทศจีน ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่สามารถตรวจหาเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ ต่อมาเมื่อสถานการณ์ระบาดของโรคมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพของการตรวจห้องแล็บให้ได้มากขึ้นและครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีเครือข่ายทางห้องแล็บที่เป็นมาตรฐานอยู่ภายใต้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จำนวนมากกว่า 150 แห่ง แบ่งเป็น ภาครัฐบาล จำนวน 105 แห่ง ภาคเอกชน จำนวน 46 แห่ง รวมถึงโรงพยาบาลในมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า องค์การอนามัยโลกกำหนดว่าการตรวจหาเชื้อที่เป็นมาตรฐานคือ การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสในลำคอ โพรงจมูก ปอด หรือระบบทางเดินหายใจ ด้วยวิธีการป้ายหาตัวอย่างเชื้อ (swap) หรือที่เรียกว่า RT-pcr  มีข้อดีคือสามารถวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นของโรค เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากก็สามารถตรวจพบได้ ซึ่งแตกต่างจากการตรวจด้วยการหาภูมิคุ้มกัน (rapid test) ที่จะต้องรอให้มีการฟักตัวของเชื้อภายหลังจากการติดเชื้อไปแล้วประมาณ 7 วันขึ้นไป ถึงจะตรวจ แต่การตรวจ RT-pcr มีจุดอ่อนคือ การตรวจค่อนข้างซับซ้อน รายละเอียดค่อนข้างมาก ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่จะต้องมีความรู้และความเข้าใจในการตรวจ เครื่องมือในการตรวจจะมีราคาสูง และจะต้องมีระบบความปลอดภัยทางชีวะ (Bio safety) ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดของโรคในประเทศไทย จะต้องใช้ผลจาก 2 ห้องแล็บยืนยันผู้ป่วยว่าติดเชื้อโควิด-19 เพื่อให้แน่ใจว่าผลการตรวจตรงกัน

นพ.โอภาสกล่าวว่า หลังจากที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้สร้างเครือข่ายห้องแล็บ และได้กำหนดเกณฑ์ว่าห้องแล็บใดที่จะตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ จะต้องมีลักษณะดังนี้ 1.มีนักเทคนิคการแพทย์/นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่มีความรู้ความเข้าใจในวิธีการตรวจด้วยวิธี RT-pcr 2.จะต้องมีเครื่องตรวจและระบบความปลอดภัยทางชีวะ 3.ผู้ที่ทำการตรวจจะต้องผ่านการทดสอบความชำนาญ ด้วยการส่งตัวอย่างการตรวจไปที่ห้องแล็บนั้น เพื่อหาผลการตรวจที่ตรงกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อย่างแม่นยำ 100% ถึงจะผ่านมาตรฐาน และ 4.จะต้องมีระบบควบคุมคุณภาพมาตรฐานรวมถึงการรายงานข้อมูลตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด โดยขณะนี้มีการตรวจจากห้องแล็บ จำนวน 150 แห่ง ทำการตรวจตัวอย่างไปแล้วทั้งสิ้น 227,860 ตัวอย่าง และมีแนวโน้มการตรวจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

Advertisement

“ภาพรวมการตรวจของประเทศในสัปดาห์สุดท้ายที่ผ่านมา นับจนถึงวันศุกร์ที่แล้ว เราตรวจไปประมาณสัปดาห์ละ 6,000 ตัวอย่าง ซึ่งมากกว่าการตรวจเมื่อต้นเดือนเมษายนถึง 2 เท่า ที่มีการตรวจประมาณสัปดาห์ละ 3,000 ตัวอย่าง” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า การตรวจทางห้องแล็บจะมีตัวเปรียบเทียบ เรียกว่า ตัวควบคุม (Control) โดยจะมี 2 แบบคือ Positive control ซึ่งหมายถึงตัวทดสอบนั้นเมื่อนำไปตรวจจะต้องมีผลเป็นบวกเสมอ และ Negative Control ซึ่งจะต้องตรวจคู่กันเสมอตามมาตรฐาน โดยส่วนใหญ่จะใช้น้ำเปล่าเนื่องจากไม่มีเชื้อไวรัส ซึ่งจะทำให้ผลออกมาเป็นลบ ดังนั้น การตรวจด้วย RT-pcr ทุกครั้งจะต้องมี Positive control และ Negative Control ควบคู่กันเสมอ

ส่วนในกรณีการตรวจห้องแล็บใน จ.ยะลา และพบว่ามีปัญหานั้น เกิดจากการตรวจ Negative Control ด้วยน้ำเปล่า แต่ปรากฏว่าพบเชื้อไวรัส ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ในทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเจ้าหน้าที่ห้องแล็บหยุดตรวจ และรายงานผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพื่อหาสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้นต่อไป ต้องขอเรียนย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ห้องแล็บที่ยะลาเป็นห้องแล็บหนึ่งที่ผ่านเกณฑ์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และใน 1 เดือนที่ผ่านมาได้มีการตรวจให้กับประชาชนใน จ.ยะลา ไปแล้วกว่า 4,000 ตัวอย่าง ดังนั้น สิ่งที่เขาปฏิบัติเป็นสิ่งที่มีมาตรฐานในการดำเนินงาน ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมการตรวจตัวเปรียบเทียบที่เป็นลบแต่เกิดผลบวกขึ้นมา ในทางห้องปฏิบัติการพบว่าความคลาดเคลื่อน หรือ ความผิดพลาด (Error) มันเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ใช่เฉพาะในห้องแล็บ” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า ในระบบต่างๆ โดยหลักความผิดพลาดจะเกิดได้จาก 3 อย่าง 1.ความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ (human error) 2.ความผิดพลาดที่เกิดจากเครื่องมือ (Machine error) และ 3.ความผิดพลาดของระบบ (System error) เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้นจะต้องหาสาเหตุและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นต่อไป ซึ่งทางห้องปฏิบัติการของยะลาก็สามารถตรวจจับได้แล้วว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น และได้ดำเนินการตามมาตรฐานที่ผ่านมา โดยได้รายงานมาทางส่วนกลาง แนะนำตัวอย่างนั้นส่งตรวจห้องแล็บที่ 2 คือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.สงขลา โดยเบื้องต้นผลออกมาเป็นลบ ซึ่งขัดแย้งกัน จึงต้องมีการตรวจซ้ำเป็นครั้งที่ 3 โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเป็นผู้นำมาตรวจ คาดว่าผลจะออกในวันพรุ่งนี้ (6 พ.ค.63)

นอกจากนี้ นพ.โอภาสกล่าวว่า การตรวจห้องแล็บไม่ได้แปลว่าต้องได้ผลเหมือนเดิมทุกครั้งตลอดไป เพราะอาจจะเกิดความผิดพลาดได้เสมอ อย่างช่วงต้นของการตรวจที่จะต้องใช้ 2 ห้อง เนื่องจากห้องแล็บในการตรวจบางครั้งผลออกมาก็อาจจะไม่ตรงกัน ดังนั้น วิธีการปฏิบัติเมื่อผลออกมาไม่ตรงกันคือ 1.นำตัวอย่างมาตรวจซ้ำ 2.หาห้องแล็บอีก 1 แห่ง ช่วยตรวจซ้ำยืนยัน ซึ่งสามารถจะสรุปได้ว่าตัวอย่างนั้นพบเชื้อหรือไม่พบเชื้ออย่างไร รวมถึงการแปลผลทางห้องแล็บขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ เช่น แพทย์ส่งตัวอย่างเพื่อนำไปวินิจฉัยให้กับผู้ป่วย การตรวจเชิงรุกเพื่อเฝ้าระวังอย่างเช่นในพื้นที่ จ.ยะลา ดังนั้น การแปลผลเครื่องมือของห้องแล็บเป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยโรค และจะต้องคำนึงถึงธรรมชาติของการเกิดโรค สถานการณ์ของการระบาดของโรค อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้กรณีห้องแล็บของ จ.ยะลา ถามผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ได้ลงไปสนับสนุนเพื่อหาสาเหตุว่าห้องแล็บ จ.ยะลา มีความผิดพลาดอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ในอนาคตต่อไป รวมถึงการนำตัวอย่างนั้นมาทดสอบซ้ำที่ห้องแล็บอ้างอิงของประเทศไทยคือ ห้องแล็บส่วนกลางของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

นพ.โอภาสกล่าวว่า ในการตรวจซ้ำนั้นใช้ 2 วิธีคือ ใช้ตัวอย่างเดิมที่เคยตรวจจากห้องแล็บเดิมนำมาตรวจซ้ำ และการป้ายตัวอย่างใหม่ในผู้ป่วยรายเดิม ทั้งนี้ ยังเป็นการช่วยยืนยันได้ว่าผู้ป่วยรายนั้นติดเชื้อจริงหรือไม่ โดยความคลาดเคลื่อนนี้ไม่น่าจะเกิดปัญหาใดๆ เนื่องจากในทางปฏิบัติระบุ หากตัวอย่างที่สงสัยจะเป็นบวก คืออาจจะเป็นผู้ป่วยติดเชื้อ ในมาตรการควบคุมโรคก็สามารถดำเนินการได้เลยทันที เพื่อไม่ให้เป็นการแพร่กระจายของโรค จึงขอยืนยันว่าในระยะเวลาที่ผ่านมาที่ได้ขยายการตรวจห้องแล็บไป 151 แห่งในประเทศไทย เป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยของเราสามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขอให้ประชาชนวางใจเรื่องมาตรฐานการตรวจในห้องแล็บ ทั้งในส่วนของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และในเครือข่ายห้องปฏิบัติการอื่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image