โฆษก ศบค.ย้ำ “โควิด-19” เบาใจได้ แต่วางใจไม่ได้ ชี้พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่สำคัญเท่าความร่วมมือ

โฆษก ศบค.ย้ำ “โควิด-19” เบาใจได้ แต่วางใจไม่ได้ ชี้พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่สำคัญเท่าความร่วมมือ

โควิด-19 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล “โควิด-19” ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) กล่าวระหว่างแถลงความคืบหน้าสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า จากการทบทวนจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ข้อมูล ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 เป็นผู้ป่วยรายใหม่ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 8-21 พฤษภาคมจำนวน 45 ราย พบว่า

1.เป็นผู้ป่วยที่เป็นคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศและเข้ากักกันในสถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ (state quarantine) จำนวน 15 ราย

2.ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้จำนวน 11 ราย

3.ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน (active case finding) จำนวน 6 ราย

Advertisement

4.ผู้ป่วยในศูนย์กักกันคนเข้าเมือง จำนวน 5 ราย

5.ผู้ป่วยที่ไปในสถานที่ชุมชน จำนวน 5 ราย

และ 6.ทำงานอาชีพเสี่ยง เช่น พนักงานขายของ จำนวน 3 ราย

Advertisement

“การพบผู้ป่วยศูนย์รายจะทำให้เกิดความชะล่าใจหรือไม่ ใจหนึ่งก็อยากจะดีใจ แต่อีกใจหนึ่งก็ต้องทบทวนข้อมูล ซึ่งพบว่า มีรายงานผู้ป่วยจำนวน 45 ราย เป็นผู้นำเชื้อเข้าจากต่างประเทศ 15 ราย ถ้ารวมในศูนย์กักอีก 5 ราย ก็จะเป็น 20 ราย ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด ส่วนจำนวนที่เหลือเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า การค้นหาเชิงรุกในชุมชน ผู้ป่วยที่ไปอยู่ในที่ชุมชน รวมทั้งสิ้น 25 ราย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ เนื่องจากผู้ป่วยสามารถเดินไปเดินมาอยู่ในพื้นที่ของพวกเราที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เบาใจได้ แต่วางใจไม่ได้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การวิเคราะห์ระยะการระบาดของโควิด-19 จำแนกตามปัจจัยเสี่ยงตามวันที่รับรายงานในประเทศไทย พบว่า 1.ช่วงที่มีการแพร่โรคต่ำระบาดในวงจำกัด พบว่าเมื่อวันที่ 11-16 มีนาคม พบผู้ป่วยจำนวนเพิ่มมากจากปัจจัยเสี่ยง คือ สถานบันเทิงและสนามมวย จึงมีการสั่งปิดสถานที่เสี่ยง 2.กลับมาระบาดซ้ำในวงกว้าง การระบาดต่อเนื่องยาวมาจนถึงช่วงต้นเดือนเมษายน จนกระทั่งมีการประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ใช้มาตรการเคอร์ฟิว และสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่ง 3.ควบคุมได้พบผู้ป่วยประปราย ซึ่งเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกคน และ 4.ควบคุมเต็มที่ เดือนพฤษภาคมสามารถควบคุมได้เต็มที่ยอดผู้ป่วยเป็นหลักหน่วย หรือ ตัวเลขศูนย์

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สิ่งที่เรียนรู้คือ ระยะเวลาที่สำคัญคือ 2 เดือน หากมีการติดเชื้อในรายที่ 1 แต่ไม่มีการแสดงอาการป่วย และนำเชื้อไปติดในรายที่ 2 และมีการแสดงอาการป่วย จึงต้องย้อนกลับไปหาประวัติเสี่ยงให้ได้ว่ารายที่ 1 เป็นใคร ดังนั้นจะต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 14 วัน

“กฎหมายสามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่จะสามารถควบคุมได้สูงที่สุด คือ ประชาชนให้ความร่วมมือ เช่น การให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัย กฎหมายขึ้นเป็นสิ่งที่กำหนดขึ้นแต่สำคัญมากแต่สำคัญมาจากใจของทุกคน ทำให้เราสามารถควบคุมโรคได้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image