อ.ดังโพสต์ ‘โฆษกศบค.’ หยุดพูดชุ่ยๆคนไทยในมาเลย์เดินทางกลับ ชี้กลบปัญหาแท้จริง

อ.ดังโพสต์ ‘โฆษกศบค.’ หยุดพูดชุ่ยๆคนไทยในมาเลย์เดินทางกลับ ชี้กลบปัญหาแท้จริง

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า #โฆษกศบคต้องหยุดพูดชุ่ยๆเกี่ยวกับการเดินทางกลับของคนไทยในมาเลเซียเดี๋ยวนี้

จากการที่หลายวันมานี้จำนวน #คนไทยในมาเลเซีย ที่เดินทางกลับตามช่องทางที่รัฐกำหนดมีน้อยกว่าโควตาในแต่ละวันมาก (โควตา 350-400 คนต่อวัน) ทำให้ทุกครั้งที่ #โฆษกศบค.รายงาน “สถิติคนไทยเดินทางกลับเข้าประเทศผ่านจุดผ่านแดนทางบก” ก็จะต้องพูดว่า “คนไทยในมาเลเซียเดินทางกลับกันน้อยนะครับ อยากให้กลับกันมาเยอะๆ” สำหรับเราแล้วนั้น การพูดนี้หากไม่ได้เกิดจากความไม่รู้ (ignorance) ก็เกิดจากความไม่อายอย่างแน่นอน มันเป็นการพูดที่กลบเกลื่อนปัญหาจาก #การบริหารจัดการโควิด19 ของ ศบค. ไปทั้งหมด แล้วเหมือนจะโทษประชาชนอีกว่าทำไมไม่รู้จักลงทะเบียนกลับกันให้เยอะๆ ทั้งที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้กลับแล้ว กลับกันช้า เดี๋ยวโรงเรียนเปิดจะไม่มีที่ให้กักตัว (local quarantine) แล้วนะ ฯลฯ

ทั้งนี้ หากยังจำกันได้ ศบค.มีท่าที “ตั้งการ์ดสูง” อย่างมากมาโดยตลอดกับคนไทย (ส่วนใหญ่คือ แรงงาน) ในมาเลเซีย กีดกันการเดินทางกลับไทยทุกอย่าง สร้างอุปสรรคความยุ่งยากมากมายให้กับคนที่จะกลับบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้ลงทะเบียนออนไลน์ ที่ระบบกากมาก ไม่เสถียร ขั้นตอนยุ่งยาก บางคนต้องอดหลับอดนอน ใช้เวลาหลายวันกว่าจะลงทะเบียนได้เสร็จ รวมทั้งบังคับให้ต้องมีเอกสารพิเศษเพื่อข้ามแดน โดยเฉพาะเอกสารใบรับรองแพทย์ fit to travel ที่แสนไร้สาระ และสร้างภาระบนบ่าชาวบ้าน

เราอยากบอก โฆษก ศบค.ว่า การลงทะเบียนเดินทางกลับในแต่ะละวันนั้นที่จริงเต็มเกือบตลอด เต็มล่วงหน้าสองสัปดาห์ด้วย แต่การเดินทางกลับจริงที่น้อยนั้นก็ด้วยเหตุผลหลายอย่าง บางคนอาจหาใบรับรองแพทย์ไม่ได้ บางคนหารถออกมาจากที่พักไม่ได้ บางคนได้วันกลับคนละวันกับลูกหรือครอบครัว แล้วขอเปลี่ยนวันไม่ได้ (สถานทูตห้ามเปลี่ยนวัน) ต้องทิ้งคิวที่ได้เพื่อทะเบียนใหม่อีกรอบเท่านั้น ผ่านมาเกือบหนึ่งเดือนครึ่ง อุปสรรคเหล่านี้ก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้รับการแก้ไขทำให้มีคนเพียงจำนวนน้อยที่มีคุณสมบัติครบและสามารถเดินทางผ่านช่องทางที่รัฐกำหนดได้

Advertisement

ที่สำคัญ โฆษก ศบค.ต้องควรต้องรู้ด้วยว่า คนไทยที่สามารถเดินทางกลับตามเงื่อนไขที่ทางการไทยกำหนด คือ ผู้ที่มีเอกสารการเดินทางและการพำนักในมาเลเซียที่ถูกกฎหมายเท่านั้น หากเป็นผู้ที่เอกสารการเดินทางหมดอายุหรือ “overstay” มาตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563 แม้จะลงทะเบียนกับทางสถานเอกอัครราชทูตฯ เรียบร้อยแล้ว ก็จะถูกทางการมาเลเซียจับกุมเมื่อมาถึงด่านพรมแดน

ทั้งนี้ นับแต่ #เปิดด่านพรมแดน มาตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2563 มีคนไทยจากมาเลเซียกลับประเทศแล้วกว่า 12,000 ราย โดยพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 เพียง 1 รายเท่านั้น ซึ่งแสดงว่าแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากมาเลเซียไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงสำคัญของโรคโควิด 19 ดังที่ ศบค.พยายามวาดภาพให้น่ากลัวมาโดยตลอด ดังนั้น แทนที่ ศบค. จะปล่อยให้โฆษก ศบค.มาพูดอะไรแบบมักง่าย สร้างความเข้าใจผิดต่อแรงงานไทยในมาเลเซียดังข้างต้น ศบค. ควรหันมาหาทางลดเงื่อนไขและช่วยอำนวยความสะดวกแก่คนไทยในมาเลเซียในการเดินทางกลับบ้าน ปรับปรุงระบบการลงทะเบียนกลับประเทศให้ง่ายขึ้น พร้อมขยายโควต้าจำนวนคนเดินทางในแต่ละวันเพื่อลดการกลับตามช่องทางธรรมชาติ ที่สำคัญรัฐต้องช่วยเหลือแรงงานไทยในมาเลเซียที่ overstay หรือเข้าเมืองมาเลเซียอย่างผิดกฎหมาย ให้สามารถกลับเข้าประเทศไทยได้โดยราบรื่น ไม่ต้องถูกทางการมาเลเซียลงโทษสถานหนัก และไม่ต้องถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ต้องหาในข้อหา “ลักลอบเข้าประเทศของตัวเอง”

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image