ไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 5 ราย เป็นผู้เดินทางกลับจาก ตปท.ทุกคน-อยู่ในสถานกักกันของรัฐ

‘โควิด-19’ ไทยป่วยเพิ่ม 5 ราย ทุกรายอยู่ใน State Quarantine

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงข่าวความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

พญ.พรรณประภา กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5 ราย สะสมอยู่ที่ 3,156 ราย ซึ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,444 ราย และอยู่ในสถานกักกันโรคของรัฐ (State Quarantine) 219 ราย ไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม และสะสมที่จำนวน 58 ราย ผู้ป่วยรักษาหายสะสมที่ 3,023 ราย อยู่ในการรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) จำนวน 75 ราย ในจำนวนผู้ป่วยสะสมพบในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และนนทบุรี จำนวน 1,757 ราย ภาคเหนือ 95 ราย ภาคกลาง 449 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 ราย ภาคใต้ 744 ราย โดยผู้ป่วยอายุน้อยสุด 1 เดือน อายุมากสุด 97 ปี โดยเฉลี่ยคืออายุ 39 ปี

“การติดเชื้อในประเทศเป็นศูนย์รายอย่างต่อเนื่อง และผู้ป่วยรายใหม่วันนี้เป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ และอยู่ในสถานกักกันของรัฐ (State Quarantine) กลับมาจากประเทศอียิปต์ 2 ราย และประเทศกาตาร์ 3 ราย” พญ.พรรณประภากล่าว

Advertisement

พญ.พรรณประภา กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยจำนวน 5 รายใหม่ในวันนี้ เป็นคนไทยที่เดินทางกลับมาจาก 1.ประเทศอียิปต์ จำนวน 2 ราย รายที่ 1 เพศชาย อายุ 31 ปี อาชีพนักศึกษา จากเมืองไคโร และ รายที่ 2 เพศหญิง อายุ 22 ปี อาชีพแม่บ้าน เดินทางถึงไทยเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน เข้าพักที่ State Quarantine จ.ชลบุรี ตรวจหาเชื้อครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ไม่พบเชื้อ ครั้งที่สอง วันที่ 20 มิถุนายน (วันที่ 11 ของการเข้าพักฯ) ผลพบเชื้อ โดยทุกรายไม่มีอาการ

2.ประเทศกาตาร์ จำนวน 3 ราย เป็น ผู้ป่วยรายที่ 3 เพศหญิง อายุ 31 ปี รายที่ 4 เพศชาย อายุ 22 ปี อาชีพพนักงานนวดสปา และ รายที่ 5 เพศชาย อายุ 52 ปี อาชีพพนักงานขับรถเครน ซึ่งกลับจากเมืองโดฮา เดินทางถึงไทยวันที่ 16 มิถุนายน เข้าพักที่ State Quarantine จ.ชลบุรี ตรวจหาเชื้อวันที่ 21 มิถุนายน (วันที่ 5 ของการเข้าพักฯ) ผลพบเชื้อ ทุกรายไม่มีอาการ

Advertisement

พญ.พรรณประภา กล่าวถึงสถานการณ์ทั่วโลก 211 ประเทศ ว่า ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 92 และพบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อทั่วโลกสะสมรวม 9,187,861 ราย รักษาหายแล้ว 4,937,251 ราย เสียชีวิต 474,339 ราย ประเทศที่พบผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.สหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อสูงที่สุด 2,387,153 ราย เสียชีวิต 122,619 ราย 2.บราซิล 1,111,348 ราย เสียชีวิต 51,407 ราย 3.รัสเซีย 592,280 ราย เสียชีวิต 8,206 ราย 4.อินเดีย 440,450 รายเสียชีวิต 14,015 และ 5.สหราชอาณาจักร 305,289 ราย เสียชีวิต 42,647 ราย โดยจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 141,794 รายภายใน 1 วัน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 3,636 ราย

พญ.พรรณประภา กล่าวว่า สถานการณ์ของทวีปเอเชีย พบจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมสูงที่สุด ตามลำดับของโลก ได้แก่ ลำดับที่ 4 ประเทศอินเดีย ผู้ติดเชื้อจำนวน 440,450 ราย เสียชีวิต 14,015 อันดับที่ 14 ประเทศปากีสถาน จำนวน 181,088 ราย เสียชีวิต 3,590 ราย อันดับที่ 17 ประเทศบังกลาเทศ จำนวน 115,786 ราย เสียชีวิต 1,502 ราย อันดับที่ 29 ประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 46,845 ราย เสียชีวิต 2,500 ราย อันดับที่ 32 ประเทศสิงคโปร์ จำนวน 42,313 เสียชีวิต 26 ราย อันดับที่ 40 ประเทศฟิลิปปินส์ จำนวน 30,682 ราย เสียชีวิต 1,177 ราย อันดับที่ 51 ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 17,912 ราย เสียชีวิต 953 ราย อันดับที่ 61 ประเทศเกาหลีใต้ จำนวน 12,484 ราย เสียชีวิต 281 ราย อันดับที่ 69 ประเทศมาเลเซีย จำนวน 8,587 ราย เสียชีวิต 121 ราย อันดับที่ 92 ประเทศไทย จำนวน 3,156 ราย เสียชีวิต 58 ราย อันดับที่ 155 ประเทศเวียดนาม จำนวน 349 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต อันดับที่ 159 ประเทศเมียนมาร์ จำนวน 291 ราย เสียชีวิต 6 ราย อันดับที่ 173 ประเทศบรูไน จำนวน 141 ราย เสียชีวิต 3 ราย อันดับที่ 174 ประเทศกัมพูชา จำนวน 129 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต และ อันดับที่ 196 ประเทศลาว จำนวน 19 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต

พญ.พรรณประภา กล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจในต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐแสดงความกังวล หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอายุน้อยเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะในรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐ ได้แก่ ฟลอริดา, เซาธ์แคโรไลนา จอร์เจีย เท็กซัส และพื้นที่อื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่แรกๆ ที่กลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง หลังจากมาตรการล็อกดาวน์ ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา ระบุว่า ผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ทางการต้องเปลี่ยนทิศทางการป้องกันและดูแลประชาชนไปสู่กลุ่มผู้ที่มีอายุ 20-30 ปี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ และไม่จำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์

ผู้สื่อข่าวถามว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสถานศึกษามีความพร้อมในการเปิดเทอมวันที่ 1 กรกฎาคมอย่างไร พญ.พรรณประภา กล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมวันที่ 1 กรกฎาคม ที่จะเปิดการเรียนทุกระดับชั้นในสถานศึกษา สิ่งที่เตรียมความพร้อมของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ สธ.คือ การตัดคู่มือแนวทางปฏิบัติของสถานศึกษา ที่เน้นเรื่องความปลอดภัย การป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น มีจุดคัดกรองนักเรียนก่อนเข้าเรียน นักเรียนและบุคลากรทุกคนจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา การทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม มีจุดบริการล้างมือ รวมถึงการกำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้อง โดยชั้นประถมศึกษาไม่เกินห้องละ 20 คน และชั้นมัธยมศึกษาไม่เกินห้องละ 25 คน แต่หากสถานศึกษาใดที่มีจำนวนนักเรียนเกิน ให้ใช้การสลับกันเรียน เช่น เรียนในวันจันทร์ พุธและศุกร์ หรือ วันอังคารกับวันพฤหัสบดี หรือการสลับวันคู่/วันคี่

“ขอเน้นย้ำในผู้ปกครอง หากบุตรหลานมีอาการไม่สบาย ไข้ ไอ เจ็บคอ ควรจะให้หยุดไปเรียน โดยในวันที่ 1 กรกฎาคมที่จะเปิดเรียนนั้น นักเรียนจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ผู้ปกครองจะต้องเตรียมอุปกรณ์ป้องกันตัวให้กับบุตรหลาน และนักเรียนจะต้องเว้นระยะห่างกับเพื่อนๆ ด้วย” พญ.พรรณประภา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image