สธ.แนะดูแล “ผู้สูงอายุ” ในบ้าน ลดเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19

สธ.แนะดูแล “ผู้สูงอายุ” ในบ้าน ลดเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการดูแลผู้สูงอายุในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19 ว่า กลุ่มผู้สูงอายุไม่ได้เป็นกลุ่มที่มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 สูง หากเทียบกับวัยทำงานที่มีการเคลื่อนไหวตัวเองออกไปในที่ต่างๆ แต่ผู้สูงอายุจะมีการติดเชื้อจากกลุ่มผู้ที่ออกไปนอกบ้านและนำเชื้อกลับมาสู่คนในบ้าน ข้อมูลทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ พบว่า การติดเชื้อในกลุ่มผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะเสียชีวิตสูงกว่าวัยอื่น ซึ่งส่วนหนึ่งไม่ได้เกิดจากโรคปอดอักเสบโดยตรง แต่เกิดจากภูมิต้านทานที่ต่ำและโรคประจำตัว โดยเมื่อรับเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้ภาวะของโรคเดิมแย่ลง ไปจนถึงทำให้เสียชีวิตได้

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า แนวทางของผู้สูงอายุที่ต้องดูแลตนเอง ได้แก่ 1.การหมั่นล้างมือให้บ่อยขึ้น 2.ระมัดระวังไม่นำมือมาสัมผัสใบหน้า 3.กินร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว แยกของใช้ส่วนตัว 4.งดออกจากบ้าน ออกเท่าที่จำเป็น 5.สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน 6.หากอยู่นอกบ้าน ต้องเว้นระยะห่างและไม่ไปในที่แออัด 7.ใช้ช่องทางสื่อสารอื่นในการพบปะลูกหลาน เช่น แอพพลิเคชั่นไลน์ แนวทางของการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 บุตรหลานที่อยู่บ้านเดียวกันกับผู้สูงอายุ และสมาชิกในบ้านไม่ได้ออกไปทำงานนอกบ้าน ให้เน้นด้วยการล้างมือให้บ่อย ทำความสะอาดในพื้นที่รอบบ้าน ปรับระบบการระบายอากาศ เตรียมความพร้อมในเรื่องของยาที่ผู้สูงอายุรับประทานรักษาโรค ซึ่งสามารถติดต่อกับสถานบริการสาธารณสุขในการโทรศัพท์ปรึกษาอาการหรือการรับยา

นอกจากนี้ พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า กลุ่มที่ 2 บุตรหลานที่ทำงานนอกบ้าน สวมหน้ากากอนามัย เลี่ยงการไปในพื้นที่แออัด ควรเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร เมื่ออยู่นอกบ้าน และเมื่อกลับถึงบ้านก็ควรจะรีบอาบน้ำ เปลี่ยนชุดทันที กลุ่มที่ 3 บุตรหลานที่อยู่ต่างจังหวัด หากจะกลับไปเยี่ยมผู้สูงอายุที่อยู่คนละจังหวัด จะต้องเตรียมความพร้อมในการเดินทาง โดยจะต้องมั่นใจว่า 1.ตนเองไม่มีอาการป่วย 2.สังเกตความเสี่ยงของตนเองในระยะ 14 วันก่อนหน้าการเดินทาง 3.เตรียมอาหารสำหรับรับประทานระหว่างการเดินทาง พร้อมทั้งสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือทุกครั้ง 4.เมื่อเดินทางกลับถึงบ้านแล้วควรจะรีบเปลี่ยนเสื้อผ้าและอาบน้ำชำระร่างกาย โดยเฉพาะหากเดินทางจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ในระยะ 2-3 วันแรก ไม่ควรเข้าไปคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้สูงอายุในบ้าน

Advertisement

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า แนวทางปฏิบัติสถานดูแลผู้สูงอายุ ที่ได้รับการอนุญาตให้เปิดบริการแล้ว ในการจัดสถานที่ควรเน้นเรื่องการทำความสะอาด เพิ่มรอบทำความสะอาดให้บ่อยขึ้น มีจุดคัดกรองผู้เข้าสถานที่ทุกคน เว้นระยะตามความเหมาะสม แยกของใช้ของผู้สูงอายุ ตรวจสอบสิ่งของที่ถูกส่งมาให้ผู้สูงอายุก่อนส่งมอบ สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลหากเดินทางไปในพื้นที่อื่นมาควรแจ้งให้แก่หัวหน้างานรับทราบ และหากมีอาการป่วย ต้องหยุดปฏิบัติงานทันที สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานดูแลฯ ต้องแยกใช้ภาชนะส่วนตัวอย่างชัดเจน

“สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (long term care) เจ้าหน้าที่ที่จะต้องไปดูแลผู้สูงอายุติดเตียงที่บ้านจะต้องลดการสัมผัสลง ล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ลดจำนวนผู้เข้าดูแล และเว้นระยะห่างในการปฏิบัติงาน ให้คำแนะนำผู้สูงอายุและคนในบ้านในการป้องกันโรค” พญ.พรรณพิมล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในช่วงของการเปิดภาคเรียน ผู้สูงอายุหรือผู้ปกครองมีความกังวลว่านักเรียนจะเป็นผู้นำพาเชื้อกลับเข้าไปในบ้าน และคำถามว่าควรจะให้หยุดเรียนไปจนกว่าสถานการณ์โรคจะดีขึ้น ควรปฏิบัติอย่างไร พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ในช่วงของการเปิดเทอมจะมีการปฐมนิเทศผู้ปกครองและทางโรงเรียนจะต้องอธิบายข้อมูล ในมาตรการป้องกัน สำหรับเด็กนักเรียน ทั้งนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาที่การมีความเข้มงวดในการป้องกันโรคในสถานศึกษาอย่างมาก หากมีการติดเชื้อภายในโรงเรียน จะมีระบบในการดูแลทันทีและมีระบบการจำกัดการแพร่ระบาด จึงอยากให้ผู้ปกครองช่างน้ำหนักของการไปโรงเรียน เนื่องจากการเรียนมีกิจกรรมหลายอย่างที่จำเป็นสำหรับนักเรียน

“หากผู้ปกครองไม่ความมั่นใจในมาตรการของโรงเรียน ก็สามารถส่งข้อมูล/ข้อสังเกตมายังแพลตฟอร์ม Thai stop covid ได้ ซึ่งเป็นความร่วมมือของโรงเรียนและกระทรวงสาธารณสุข และจากการพูดคุยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ว่า การแบ่งพื้นที่ในการลงไปตรวจสอบ ทันทีที่ข้อมูลขึ้นมาเมื่อถึงโรงเรียนแล้ว จะนำส่งถึงคุณหมอด้วย เพื่อให้หมอ ครู พ่อแม่ อยู่ในชุดข้อมูลเดียวกัน” พญ.พรรณพิมล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image