“บิ๊กตู่” ใช้โอกาสพบ “ผบ.ทบ.สหรัฐ” ทดสอบระบบสกัด “โควิด-19” ศบค.ชี้แขกรัฐบาลอยู่ 2 วัน ไม่กักตัว

“บิ๊กตู่” ใช้โอกาสพบ “ผบ.ทบ.สหรัฐ” ทดสอบระบบสกัด “โควิด-19” ศบค.ชี้แขกรัฐบาลอยู่ 2 วัน ไม่กักตัว

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) เปิดเผยระหว่างแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในการใช้ชีวิตหลังผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 โดยกลุ่มตัวอย่าง 1,109 คน ในช่วงวันที่ 1-4 กรกฎาคม พบว่า

1.ความวิตกกังวลของประชาชน ณ วันที่ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศกว่า 30 วัน ที่มีความกังวลมากขึ้นและเหมือนเดิม ประมาณร้อยละ 35 คิดเป็น 1 ใน 3 มีความกังวลอยู่ แต่ 2 ใน 3 มีความกังวลลดลงหรือไม่กังวลเลย จึงทำให้เห็นภาพของการไปสถานบันเทิงหรือการออกนอกบ้าน และไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือยืนแออัดในพื้นที่

2.ความคาดหวังให้โควิด-19 เข้าสู่ปกติ ร้อยละ 39.40 อยากให้จบภายในสิ้นปี 2563 ร้อยละ 27.95 คาดว่าจบในกลางปี 2564 ร้อยละ 29.90 คาดว่าจบสิ้นปี 2564

Advertisement

3.ประชาชนมีส่วนร่วมในการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ร้อยละ 94.77 มีส่วนร่วมในการสวมหน้ากากอนามัย ร้อยละ 88.19 ล้างมือบ่อยๆ ร้อยละ 79.80 ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ร้อยละ 76.92 ไม่ไปในสถานที่มีคนแออัด

4.หลังจากโควิด-19 มีทิศทางดีขึ้น ประชาชนอยากให้รัฐบาลฟื้นฟูอย่างไร ร้อยละ 77.55 อยากให้มีการควบคุมสถานการณ์ที่เข้มงวด ร้อยละ 71.78 มีมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 69.43 เน้นสร้างงาน สร้างอาชีพ ร้อยละ 65.64 ช่วยเหลือคนตกงานและ ร้อยละ 57.26 ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ

Advertisement

นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จากข้อสรุปของ ศบค.ชุดเล็ก เรื่อง Medical and wellness program หลังจากนี้จะใช้คำว่าโปรแกรม (Program) จะไม่ใช้คำว่า ทัวริสซึ่ม (Tourism) เพราะว่าผู้ที่เดินทางเข้ามาคือ ผู้ป่วย โดยจะเป็นผู้ที่ผ่านทางเมดิคัล ฮับ (Medical Hub) ซึ่งประเทศไทยมีชื่อเสียงมาก และเพื่อการหมุนเวียนเศรษฐกิจ วัตถุประสงค์คือการกักกันตัวร่วมกับการรักษาพยาบาล เป้าหมายคือ ผู้ป่วยและผู้ติดตามชาวต่างชาติที่มีความจำเป็นต้องเข้ามารับการรักษาพยาบาลเท่านั้น ตามโรคเฉพาะกลุ่ม เดินทางด้วยสายการบิน โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง รักษาพยาบาลรวมกักกันตัวจนครบ 14 วัน ในสถานพยาบาลที่กำหนด และต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 รวม 3 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อสร้างรายได้กลับเข้าสู่ประเทศ และเพื่อให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก

“ขณะนี้มีผู้ขึ้นทะเบียนรวม 34 ประเทศ รวม 3 เดือน ผู้ป่วย 1,169 คน และผู้ติดตาม 1,521 คน โดยจากประเทศทางอาเซียน 1,685 คน จีน 389 คน ยุโรป 23 คน เอเชียใต้ 125 คน ตะวันออกกลาง 427 อเมริกาเหนือ 16 คน โอเชียเนีย 1 คน และแอฟริกา 23 คน โดยทิศทางคือ ก่อนเข้ามาจะต้องปลอดเชื้อโควิด-19 กระทรวงการต่างประเทศอนุมัติ ระหว่างอยู่ในประเทศไทย 14 วัน ในสถานพยาบาล และไม่ให้กลับออกก่อน 14 วัน” โฆษก ศบค.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผบ.ทบ.ของสหรัฐอเมริกาที่จะเดินทางเข้าประเทศในช่วงวันที่ 9-10 กรกฎาคมนี้ จะมีมาตรการอย่างไร ต้องกักกันผู้ที่จะไปพบกับ ผบ.ทบ.หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจ โดย ศบค.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งเป็นการทดสอบระบบที่ได้ออกแบบมา และแสดงให้เห็นว่าทางการสร้างความมั่นใจในระดับผู้บริหาร แต่ในการเดินทางของ ผบ.ทบ. รายดังกล่าวมีการเดินทางไปในหลายประเทศ โดยก่อนหน้าจะมาประเทศไทย จะต้องเดินทางไปในสิงคโปร์ก่อน ซึ่งเป็นความละเอียดอ่อนของการเดินทางและเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ได้ถามว่าเลื่อนได้หรือไม่

“สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีการรายงานผู้ป่วย และรับทราบเข้าใจกันดี โดยจะต้องผ่าน 6 หลักเบื้องต้น คือ 1.เป็นคณะเล็กไม่เกิน 10 คน 2.เป็นการเดินทางระยะสั้น 3.มีการตรวจรับรองการปลอดเชื้อโควิด-19 ที่ประเทศต้นทางและเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย (Double Negative) 4.ให้หน่วยราชการที่เป็นเจ้าภาพเชิญแขกระดับสูง พิจารณาจัดเจ้าหน้าที่ประจำคณะในลักษณะ Liaison Officer (LO) ติดตาม 5.มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ จากหน่วยงานความมั่นคงติดตามประจำคณะด้วย และ 6.ต้องจำกัดการเดินทางเฉพาะกำหนดการที่ได้ตกลงไว้ล่วงหน้าเท่านั้น ห้ามคณะเดินทางไปในที่สาธารณะและห้ามใช้ขนส่งมวลชน ซึ่งแขกของเราให้ความร่วมมืออย่างดี” นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า

นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มีประชาชนเป็นห่วง พล.อ.ประยุทธ์ ในการเข้าพบกับกลุ่มคนเหล่านี้ แต่อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ที่มีความสำคัญระดับสูงของประเทศไทย สิ่งที่แขกทั้งหลายที่จะเข้ามา ทางประเทศไทยจะต้องมีการกำชับให้สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เนื่องจากเป็นความห่วงใยของประเทศไทย และคาดว่าจะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

“มาเป็นระยะสั้น ไม่ต้องกักกันโรค หากเสร็จภารกิจก็สามารถเดินทางกลับได้ ส่วนเจ้าหน้าที่ของไทยที่เข้าไปดูแลจะมีการตรวจสอบเป็นระยะ ระหว่างการเดินทางจะมีการทีมงานติดตามจากทีมที่เป็นเจ้าภาพ และทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image