ผลสำรวจชี้คนไทย “การ์ดตก” เมินหน้ากาก-ไม่เว้นระยะ สธ.ย้ำ! กินที่ร้านอย่านาน
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย แถลงผลการตรวจประเมินกิจการ/กิจกรรมที่ได้รับผ่อนปรนในระยะที่ 4 และมาตรการป้องกันโรคในระยะที่ 5 ในช่วงการแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ในวันนี้เป็นการผ่อนปรนระยะที่ 5 ครบ 1 สัปดาห์ และสถานการณ์ในประเทศไทยอยู่ในการควบคุมโรคที่ดี อย่างไรก็ตาม ยังจะต้องใช้ชีวิตวิถีใหม่
พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า กรมอนามัยได้ทำการสุ่มสำรวจสถานที่ที่ได้รับการผ่อนปรนเพิ่มเติมช่วงวันที่ 25 มิถุนายน – วันที่ 2 กรกฎาคม 2563 โดยผลการสำรวจพบว่า 1.สถานที่ใช้จัดประชุม/สัมมนา และจัดนิทรรศการ 222 แห่ง พบว่าภาพรวมได้รับความร่วมมืออย่างดี ผู้ดูแลสถานที่ให้ความร่วมมือในมาตรการหลัก แต่ยังมีจุดที่ต้องเน้นย้ำคือ การทำความสะอาดผิวสัมผัสร่วม เช่น ห้องน้ำ ห้องที่ต้องใช้ร่วมกัน จะต้องเพิ่มรอบการทำความสะอาด การสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งในขณะนี้การสวมหน้ากากในพื้นที่สาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 91 มาโดยตลอด ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญ โดยจุดที่ทำได้ดีคือการบริการจุดล้างมือ/เจลแอลกอฮอล์ รวมถึงการจัดระยะห่างเพื่อลดความแออัด
พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า 2.สถานที่รับดูแลผู้สูงอายุ 51 แห่งทั่วประเทศ พบว่า บางสถานที่งดการเยี่ยมญาติและสามารถควบคุมจำนวนผู้สูงอายุที่เข้าได้ดี แต่ในสิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือ การทำความสะอาดจุดสัมผัส และการสวมหน้ากากอนามัย จากการสำรวจพบว่าผู้สูงอายุรู้สึกอึดอัดในการใช้หน้ากากอนามัย โดยผู้สูงอายุที่อยู่ในกลุ่มขนาดเล็กและเข้าพักมากกว่า 14 วัน ในพื้นที่ที่มีการดูแลอย่างต่อเนื่องก็น่าจะปลอดการติดเชื้อโควิด-19 แต่อาจจะมีโรคประจำตัวอยู่ซึ่งไม่สะดวกในการสวมหน้ากากอนามัย และผู้ให้บริการผู้สูงอายุต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา แต่ผู้สูงอายุเองอาจจะผ่อนปรนการสวมหน้ากากอนามัยได้บ้าง หากกิจกรรมที่ทำนั้นมีการเว้นระยะห่างและอยู่กับกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้อยู่ร่วมกันมาช่วงหนึ่งแล้ว
“การทำความสะอาดเป็นสิ่งที่ต้องเน้นย้ำในสถานดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงในการสัมผัสโรค การเว้นระยะห่าง โดยเฉพาะเตียง จะต้องปรับให้ดีเพื่อการดูแลผู้สูงอายุที่ดี และกลุ่มของผู้สูงอายุติดเตียงที่อยู่บ้าน ผู้ที่จะเข้าไปดูแลจะต้องจำกัดจำนวน ไม่ควรเข้าไปในครั้งละมากๆ หรือคนในครอบครัวอาจจะดูแลเองเพิ่มขึ้นเพื่อลดการพบกับผู้อื่นภายนอกครอบครัวมากจนเกินไป” พญ.พรรณพิมล กล่าว
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า 3.รถขนส่งสาธารณะ ในเรื่องการทำความสะอาด อาจจะทำได้ไม่ดีนัก เนื่องจากจะต้องบริการผู้โดยสาร แต่ทุกรอบที่หยุดเดินรถจะต้องมีการทำความสะอาด ซึ่งอยากเน้นย้ำในผู้ใช้บริการว่าต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่ออยู่ในพื้นที่รถโดยสาร ซึ่งการสำรวจพบว่าร้อยละ 82 มีการสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่รถสาธารณะ ซึ่งน้อยกว่าจำนวนของการสวมใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะทั่วไป ทั้งนี้ การสวมหน้ากากอนามัยบนรถสาธารณะมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากขณะนี้มีการผ่อนปรนจุดนั่ง/ยืน ในรถแล้ว และในด้านอื่นๆ ดำเนินการได้อย่างดี และขอให้ผู้ประกอบการกำชับผู้ใช้บริการให้ลงทะเบียนในการใช้บริการ เพื่อการติดตามเฝ้าระวัง
นอกจากนี้ พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า 4.ตลาด ที่ได้รับการผ่อนปรนมาโดยตลอด ช่วงแรกดำเนินการตามมาตรการได้ดีมาก แต่เมื่อผ่านเข้าสู่การผ่อนปรนในระยะที่ 5 เริ่มมีการผ่อนคลายลง โดยร้อยละ 56 มีการจัดพื้นที่ลดความแออัด ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยลงแต่มีความสำคัญอย่างมาก ดังนั้น จึงอยากให้ประชาชนให้ความร่วมมือในการเว้นระยะห่าง ไปจนถึงการสวมหน้ากากอนามัย ที่ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 70 นับว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก
“การดูควบคู่กันคือ การลดความแออัดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 56 และหากไม่สวมหน้ากากผ้าด้วย ความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้น และอยากเน้นย้ำเรื่องของการทำความสะอาด แต่โดยปกติตลาดสดมีการทำความสะอาดสม่ำเสมอก่อนที่จะมีโควิด-19 แล้ว แต่ทั้งนี้เข้าหน้าฝนจะมีหลายโรคตามมา พื้นจะมีความเฉอะแฉะ และจะมีการหมักหมมขยะ โดยจะมีสัตว์ต่างๆ ที่เป็นพาหะนำโรค และอยากให้ทุกคนกลับไปร่วมมือกันเหมือนเดิม ให้ตลาดสดของเราน่าซื้อตลอดไป” พญ.พรรณพิมล กล่าว
พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า 5.ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ได้รับการผ่อนคลายมากขึ้น โดยพบว่า จะสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาไม่ได้ เนื่องจากต้องรับประทานอาหาร แต่ขอให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นเพียงแค่ช่วงเวลารับประทานเท่านั้น ลดการพูดคุยกัน และอย่าใช้เวลานาน โดยขณะนี้ยังไม่สามารถใช้ร้านอาหารเป็นสถานที่สังสรรค์ ดื่มกิน พูดคุยกันได้ ขอให้การใช้พื้นที่ร้านอาหารเป็นการผ่อนคลาย แทนที่การนำอาหารกลับไปรับประทานอาหารที่บ้าน โดยการนั่งรับประทานอาหารจะต้องเว้นระยะห่างกัน ไม่ขยับโต๊ะหรือเก้าอี้เข้าหากัน และจะต้องล้างมือบ่อยๆ
“ขณะนี้ ประชาชนและผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียเป็นทางหลัก โดยสามารถเข้าดูข้อมูลผ่าน Thai Stop Covid ได้ว่าผู้ประกอบกิจการควรจะจัดพื้นที่และเตรียมความพร้อมอย่างไร เพราะหากมีความเสี่ยงเกิดขึ้นในสถานที่กิจการของท่าน ท่านจะต้องยอมรับกติกาที่เกิดขึ้น และผู้เข้าใช้บริการสามารถใช้ข้อมูลเพิ่มสร้างความมั่นใจในการเข้าใช้บริการได้” พญ.พรรณพิมล กล่าว
อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า ในส่วนของงบประมาณที่มีจำกัด เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการขนาดเล็ก แต่ที่ผ่านมาก็มีความพยายามในจัดการปรับปรุง ความร่วมมือของผู้ใช้บริการพบว่า หากไม่ให้ความร่วมมือ ผู้ประกอบกิจการก็สามารถเข้าไปตักเตือนหรือใช้มาตรการต่างๆ ได้ และการเฝ้าระวังมาโดยตลอดขณะนี้เปิดโรงเรียนครบ 1 สัปดาห์ แต่ยังไม่มีการระบาดในสถานศึกษา แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องระวังอย่างใกล้ชิด และประชาชนทุกคนจะต้องใช้ชีวิตในฐานวิถีใหม่ต่อไป