แรงงาน-กองถ่ายหนัง-อีเวนต์ ลุ้น ศบค.ผ่อนปรนเฟส 6 พรุ่งนี้ถกต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สธ.เร่งศึกษาเชื้อโควิดกลายพันธุ์รับมือระบาด

แรงงาน-กองถ่ายหนัง-อีเวนต์ ลุ้น ศบค.ผ่อนปรนเฟส 6 22 ก.ค.ถกต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โอดค่าดูแลคนไทยสถานกักกันหัวละ 1 หมื่น ชี้คนมีศักยภาพอาจเข้าสถานกักกันทางเลือกจ่ายเงินเอง สธ.เร่งศึกษาเชื้อโควิดกลายพันธุ์รับมือระบาด

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรการคลายล็อกผ่อนปรนการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในเฟสที่ 6 ทั้งกลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มกองถ่ายภาพยนตร์ อีเวนต์ และกลุ่มต่างชาติที่จะเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศ รวมทั้งการพิจารณาขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะครบ 1 เดือนในวันที่ 31 กรกฎาคม ยังต้องรอที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาในวันที่ 22 กรกฎาคม โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดเล็ก โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะรองประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เข้าร่วมประชุม โดย พล.อ.ณัฐพลกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า จะมีการหารือการคลายล็อกกิจการและกิจกรรมในเฟส 6 และเรื่องการต่ออายุ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้

ถกเปิดรับแรงงานต่างด้าว

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.กล่าวว่า ภาพรวมคนไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยแล้ว 43,121 ราย ยืนยันพบติดเชื้อ 313 ราย อัตราติดเชื้ออยู่ที่ 0.73 ยังไม่ถึง 1% แต่ขอเน้นย้ำว่า อย่าคาดหวังว่าประเทศไทยจะต้องเป็นศูนย์ ทั้งนี้ คนไทยที่อยากกลับเข้ามายังมีอยู่ โดยจะจัดคิวได้วันละประมาณ 600 ราย ปัจจัยที่ช่วยให้คนไทยกลับเข้ามามีหลายประเด็นคือลงทะเบียนแล้วหรือไม่ มีเอกสารประกอบครบหรือไม่ เช่น ฟิต ทู ฟลาย (Fit to Fly) การตรวจเชื้อ และมีเครื่องบินเข้ามาด้วยหรือไม่ เพราะบางประเทศยังปิดอยู่ ต้องหาช่องทางไปแวะประเทศใกล้เคียง และขึ้นเครื่องบินอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งจะบริหารจัดการผ่านสถานทูต โดยกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ซึ่งสถานกักกันโรคของรัฐในกรุงเทพฯและปริมณฑลยังมีพอที่จะรับได้บ้าง ส่วนด่านพรมแดน ประเทศไทยยังไม่เปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามา ถ้าจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าว ศบค.ชุดใหญ่จะมีการประชุมมาตรการผ่อนคลายวันที่ 22 กรกฎาคมนี้

ศบค.ชุดเล็กหารือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นพ.ทวีศิลป์กล่าวถึงการประชุม ศบค.ชุดเล็กวันนี้ พิจารณาขยายเวลาการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 6 ว่า พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะเป็นผู้รายงานความคืบหน้าและนำเสนอที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 22 กรกฎาคม ภายหลังประชุมจะมีการแถลงข่าวในข้อสรุปและมติของที่ประชุม

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทย เช่น การถ่ายทำภาพยนตร์ จะมีมาตรการป้องกันโรคอย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า การอนุญาต 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.การอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาจัดแสดงสินค้าในราชอาณาจักร เป็นกลุ่มคนจำนวนไม่มาก กำหนดพื้นที่และเวลาชัดเจน 2.อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ จะต้องมีการขออนุญาตหลังกลุ่มคนเข้ามาและระบุวันเวลาอย่างชัดเจน มีพื้นที่หรือสถานที่รวมถึงตารางกำหนดแผน ซึ่งสามารถควบคุมได้ 3.แรงงานต่างชาติใน 3 สัญชาติ ไม่ใช่นักท่องเที่ยว และ 4.อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่จะเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศมาตรการชัดเจนเกือบทุกอย่าง โดยจะอยู่ในสถานกักกันโรคของรัฐ (State Quarantine) หรือในโรงพยาบาล (Hospital Quarantine) จนครบ 14 วัน เพื่อให้เกิดความแน่ใจ

ดูแลคนไทยกลับบ้านหัวละหมื่น

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ส่วนภารกิจการนำคนไทยกลับจากต่างประเทศได้พยายามทำอย่างเต็มที่ โดยก่อนหน้านี้มีโควต้า 200 คนต่อวัน และขยายเป็น 600 คนต่อวัน ซึ่งจะต้องใช้ทรัพยากรคนอย่างมากในการดูแลต่อวัน หากมีโรงแรมที่สนใจเข้ามาเป็นสถานกักกันโรคฯจำนวนที่มากเกินไป ทาง ศบค.ชุดเล็กหารือว่าอาจเป็นภาระของภาครัฐหรือไม่ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายรายหัวกว่าหมื่นบาท

“บางคนที่ไปต่างประเทศได้ เป็นนักศึกษาอะไรทั้งหลาย ศักยภาพสูงเข้ามาในรูปแบบของสถานกักกันทางเลือก (Alternative State Quarantine) ดีหรือไม่ จ่ายเงินเองดีหรือไม่ โดยในขณะนี้มีผู้เข้าจองโรงแรม ASQ จำนวนมาก และจะต้องขยายเพิ่มเติม หากต้องการกลับมาเร็วให้ติดต่อกับสถานทูตในต่างประเทศ ทำการลงทะเบียนว่าจะกลับมาอยู่ในที่แบบไหน เราก็จะจัดการบริการในพื้นที่ หากมีสตางค์สามารถจ่ายได้ แพงขึ้น แต่ความสะดวกสบายมากขึ้น เราจะได้เตรียมพื้นที่ตรงนี้เอาไว้ให้” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

Advertisement

เดินหน้าขยายแล็บตรวจเชื้อ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า โควิด-19 เป็นโรคใหม่ที่มีการระบาดทั่วโลกมานานกว่า 7 เดือน โดยประเทศไทยสามารถถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อและรายงานต่อนานาชาติ ในการระบาดระยะแรกมีห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่สามารถตรวจวินิจฉัยเชื้อได้แค่ 2 แห่งคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกรมวิทยาศาสตร์ฯ จากนั้นได้มีการพัฒนาวิธีการตรวจ และขยายเครือข่ายการตรวจ ซึ่งเป็นการตรวจที่ได้มาตรฐานทั่วโลกยอมรับ คือการตรวจด้วยวิธี RT-PCR จนถึงขณะนี้มีห้องแล็บทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถตรวจวินิจฉัยแล้วจำนวน 209 แห่ง โดยจะขยายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย

นพ.โอภาสกล่าวว่า นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาน้ำยาตรวจ โดยกรมวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมมือกับ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด พัฒนาน้ำยาตรวจสำหรับใช้ในประเทศไทยได้เอง ไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ และไม่เคยประสบปัญหาน้ำยาตรวจไม่เพียงพอ โดยมีน้ำยาสำรองในสต๊อกกว่า 601,870 การทดสอบ (test) และการตรวจทางห้องแล็บมีระบบการรายงานแบบออนไลน์ 24 ชั่วโมง ทราบผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง

นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับการวิจัยเรื่องวัคซีน องค์การอนามัยโลก (ฮู) ประกาศจำนวนวัคซีนที่อยู่ในกระบวนการผลิตมี 140 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นของประเทศไทย 4 ชนิด ส่วนใหญ่ประเทศที่ทำวัคซีนจะเป็นสหรัฐ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ซึ่งต่างประเทศยอมรับในความสามารถของประเทศไทยในการผลิตวัคซีน และผลการทดสอบวัคซีนในสัตว์ทดลองพบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นอย่างสูงและดีมาก มีแผนที่จะผลิตและวิจัยในคนประมาณเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป

“ขณะที่การศึกษาวิจัยสมุนไพรไทยภูมิปัญญาพื้นบ้าน โดยร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกวิจัยสมุนไพรฟ้าทลายโจร ทดลองประสิทธิภาพฟ้าทลายโจรในห้องทดลองกับตัวเชื้อจริง เพราะกรมวิทยาศาสตร์ฯ พบว่าฟ้าทลายโจรสามารถทำลายเชื้อในเซลล์ปกติได้เป็นครั้งแรกของโลก และได้ส่งข้อมูลให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเพื่อใช้ในการวิจัยต่อไป” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯกล่าว

ถอดรหัสเชื้อกลายพันธุ์

นพ.โอภาสกล่าวถึงผลการถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 ของกรมวิทยาศาสตร์ฯ โดยพบว่า เชื้อแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักคือ กลุ่ม A ร้อยละ 60 และกลุ่ม B ร้อยละ 40 ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากประเทศจีน อิตาลี และสเปน มีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและทำการศึกษายีนของไวรัสโควิด-19 จากผู้ติดเชื้อที่พบในไทย พบว่าไวรัสกลุ่ม B มีการเปลี่ยนแปลงของยีนเรียกว่า การกลายพันธุ์ D614G ซึ่งพบมากในประเทศแถบยุโรป สอดคล้องกับที่มาของเชื้อไวรัสที่พบการกลายพันธุ์ชนิด D614G ในประเทศไทย ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับผู้ติดเชื้อที่มาจากแถบยุโรป เช่น อิตาลี สเปน นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ชนิด D614G มีปริมาณไวรัสเป็นจำนวนมาก ทำให้เชื้อเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์ได้ง่ายขึ้น ดังนั้น การเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของโควิด-19 อย่างต่อเนื่องมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยสนับสนุนความเข้าใจกลไกของไวรัสเพื่อการพัฒนาวัคซีน และการออกแบบยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image