สธ.เผย “วัคซีนโควิด-19” มีใช้เร็วสุดอีก 6 เดือน ลุ้น 1 ใน 7 วัคซีน เฟส 3
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงความคืบหน้าของการพัฒนาและวิจัยวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 จากทั่วโลก
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ความก้าวหน้าของการวิจัยวัคซีน ขณะนี้มีวัคซีนที่ยังอยู่ในระยะการทดลองทั้งหมดกว่า 180 วัคซีน และเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ประมาณ 135 วัคซีน และมีวัคซีนที่เริ่มทำการทดสอบในมนุษย์แล้วประมาณ 38 วัคซีน แบ่งเป็น ระยะที่ 1 จำนวน 18 วัคซีน ทดสอบในกลุ่มอาสาสมัครสุขภาพดี จำนวนน้อยคือ ไม่เกิน 100 ราย ระยะที่ 2 จำนวน 12 วัคซีน เมื่อผ่านการทดสอบระยะที่ 1 แล้ว จะนำมาทดสอบในอาสาสมัครสุขภาพแข็งแรง มีจำนวนที่มากขึ้น ที่มีความหลากหลาย เช่น อายุกว้างขึ้น สัดส่วนทางเพศ หรือ เชื้อชาติต่างกัน ศึกษาเพื่อดูว่าวัคซีนมีความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและปลอดภัยหรือไม่ ระยะที่ 3 จำนวน 7 วัคซีน เช่น การทดสอบในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด เป็นต้น ซึ่งนำวัคซีนระยะที่ 2 มาทดสอบว่า วัคซีนป้องกันโรคได้หรือไม่ ด้วยการนำวัคซีนฉีดให้กับกลุ่มอาสาสมัครสุขภาพดี และมีวัคซีนหลอกฉีดให้กับบางราย เพื่อดูความแตกต่างในการป้องกันโรค ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสามารถป้องกันโรคได้ในระยะ 6 เดือน หากทำได้ทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาจะทำการจดทะเบียนให้
“ทั้งนี้มีการใช้วัคซีนในวงจำกัด จำนวน 1 วัคซีน มาจากประเทศจีน โดยผ่านการวิจัยในระยะที่ 1 และ 2 เท่านั้น ยังไม่ได้เข้าระยะที่ 3 เพื่อพิสูจน์ว่าจะใช้ได้จริงหรือไม่ แต่ทางการจีนอนุมัติให้ใช้ในกองทัพทหารของจีนได้ คาดว่าจะมีวัคซีนใช้ เร็วที่สุดคือ 6 เดือนนับจากนี้ โดยจะเป็นวัคซีนระยะที่ 3 จะมีวัคซีนตัวใดตัวหนึ่งใน 7 วัคซีนที่จะนำมาใช้ได้ โดย สธ.ได้มีความพยายามอย่างเต็มที่ทั้งสนับสนุนการวิจัยและเตรียมจัดหาวัคซีนให้ได้มากที่สุด ในระหว่างที่รอวัคซีนสิ่งที่เราต้องทำตอนนี้คือ เตรียมความพร้อมทั้งระดับบุคคล องค์กร และ ชุมชน เพื่อให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ โดยจะต้องเตรียมความพร้อมและไม่ตื่นตระหนักมากเกินไปหากพบผู้ติดเชื้อใหม่อีกครั้ง” นพ.ธนรักษ์ กล่าว