อนุทิน เคลียร์ชัดงบพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คาดไตรมาส3 ปี’64 ผลิตได้เอง

อนุทิน เคลียร์ชัดงบพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คาดไตรมาส3 ปี’64 ผลิตได้เอง ถกทีมวิจัย สร้างความเชื่อมั่น

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าของการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 เพื่อใช้ในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19

นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ สธ.เชิญคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มายืนยันเรื่องการสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ว่า รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม สำหรับการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ไปเรียบร้อยแล้ว โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดสรรงบฯ ให้จุฬาฯ จำนวน 400 ล้านบาท และงบฯ สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด จำนวน 600 ล้านบาท ซึ่ง นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. ลงนามในหนังสือเจรจาข้อความเรียบร้อยแล้ว

Advertisement

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า ภาพใหญ่ของโลกขณะนี้มีวัคซีน 7 ชนิด ที่เข้าสู่ระยะที่ 3 ของการทดลองในมนุษย์ ซึ่งคาดว่าต้นปี 2564 จะมีอย่างน้อยจะมี 1 วัคซีนที่เข้าเส้นชัย หากเป็นเช่นนั้นก็จะมีข้อมูลว่า ภูมิคุ้มกันที่สูงสุดในการป้องกันโรคอยู่ที่เท่าไหร่ เพื่อนำมาพัฒนาวัคซีนในมนุษย์ของไทย หากทำได้เท่ากันหรือดีกว่า ก็จะมีสิทธิ์เริ่มผลิตในโรงงานประเทศไทยประมาณไตรมาส 3-4 ของปี 2564 ซึ่งบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีมาจากต่างประเทศ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การทดลองในมนุษย์ของประเทศไทยจะเริ่มเมื่อไร ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ ทั่วโลกมีวัคซีนประมาณ 42 ชนิด ที่เริ่มทดลองในมนุษย์แล้ว โรงงานในต่างประเทศที่จะผลิตวัคซีนสำหรับใช้ทดลองในมนุษย์ให้กับประเทศไทย มีคิวยาวมาก ดังนั้นเดิมที่ไทยคาดจะเริ่มผลิตในเดือนตุลาคม ก็จะเลื่อนไปเป็นช่วงปลายปีนี้

“ปัญหาคือรอคิว ขนาดเราจ่ายเงินจองแล้ว คิวก็ยังต้องรอ แต่เมื่อไหร่ที่เทคโนโลยีที่ใช้เวลาถ่ายทอดประมาณ 9 เดือน มาถึงโรงงานไทย ต่อไปเราก็จะเริ่มทำการผลิตเองไม่ต้องรอคิว” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว

Advertisement

เมื่อถามต่อว่า ขณะนี้เปิดรับอาสาสมัครทดลองวัคซีนในไทยแล้วหรือไม่ ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เปิดรับสมัคร และต้องมีกรรมการกลาง คือ คณะกรรมการอาหารและยา รับรองว่าปลอดภัยจริง และต้องผ่านกรรมการจริยธรรม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งได้เตรียมเอกสารสำหรับส่งให้กรรมการจริยธรรมและ สำนักงานคระกรรมการอาหารและยา (อย.) ไว้แล้ว พร้อมทั้งเตรียมทีมแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร และห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ถ้าพร้อมทุกอย่างแล้วถึงจะเปิดรับอาสาสมัคร

“โดยในต่างประเทศมี 42 วัคซีน ที่ทดลองในมนุษย์แล้ว มีบางเทคโนโลยีที่เหมือนกับเรา หาก อย.เห็นว่าเทคโนโลยีเดียวกับเรามีการทดสอบกว่าพันรายและมีความปลอดภัย พร้อมดูข้อมูลในสัตว์ทดลองของเราว่าเป็นอย่างไร ก็จะนำมาหารือกัน” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า การทดลองในมนุษย์ของไทย จะเร่งระยะที่ 1-2 ก่อน คือ ระยะที่ 1 ดูขนาดวัคซีนที่เหมาะสม เริ่มกลุ่มอายุไม่มาก 18-55 ปี จำนวนอาสาสมัคร 48 ราย เมื่อมีความปลอดภัยขยายไปกลุ่มอายุ 65-75 ปี จำนวน 48 ราย และจึงเข้าสู่ระยะที่ 2 จำนวนอาสาสมัคร 300-600 ราย

นอกจากนี้ ศ.นพ.เกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า วัคซีนแต่ละตัวจะมีภูมิคุ้มกันโรคที่ไม่เหมือนกัน และโรคโควิด-19 ยังใหม่มาก ข้อมูลวัคซีนยังไม่ชัดว่าต้องกระตุ้นภูมิเท่าไร จึงป้องกันโรคได้ โดยเชิงวิชาการ ที่ดูจากผู้ที่เคยเชื้อมาแล้ว พบว่าภูมิคุ้มกันโรคเฉลี่ยต่ำที่สุดอยู่ที่ 160 ไตเตอร์ (หน่วยวัดความเข้มข้นของเลือเมื่อเจือจางแต่สามารถป้องกันโรคได้) เลยคาดว่า หากวัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ 1:160 ก็จะเข้าท่า หากมี 1 ใน 7 วัคซีนเข้าเส้นชัย วัคซีนตัวอื่นจะมาเร็วมาก เพราะจะรู้ว่าเท่าไหร่ถึงจะป้องกันโรคได้ สมมติว่า ภูมิต้องสูงกว่า 200 ไตเตอร์ แล้วก็จะมาดูอาสาสมัครในไทยว่าเป็นอย่างไร หากต้องรอซื้อจากประเทศอื่น ก็ทยอยซื้อได้ทีละไม่มาก ซึ่งประเทศไทยทำถูก คือ 1.เตรียมเงิน รอซื้อ ต่อรองราคา 2.ต่อรองเทคโนโลยี และ 3.สามารถทำได้เอง เตรียมโรงงานเองได้

“หลายประเทศที่มีเงินทุน ได้จองวัคซีนจำนวนมาก เช่น ประเทศญี่ปุ่น จอง 120 ล้านโดส ดังนั้นประเทศเหล่านี้ เมื่อมีการเข้าโรคระบาดจะได้วัคซีนก่อน และเหตุผลที่ประเทศเดินหน้าวัคซีนครั้งนี้ เพราะ 1.ประสบการณ์การระบาดที่เคยเกิดขึ้นเช่น โรคไข้หวัดหมู ไทยได้จองไว้แต่กว่าจะส่งมาถึงโรคก็หายหมดแล้ว 2.เราไม่เชื่อว่าโลกที่ผลิตได้ทันในสิ้นปี จะถึงไทยกี่ล้านโดส และ 3.หากเราล้มเหลวรอบนี้ รอบหน้าเราจะทำได้ดีกว่า” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image