สธ.-ยูเอสซีดีซี ยันตอบโต้และรับมือการระบาดของโควิด-19 ในปท.

สธ.-ยูเอสไวรัสซีดีซี ยันตอบโต้และรับมือการระบาดของโควิด-19 ในปท.หนุนไทยผู้นำด้านสาธารณสุข

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่สถาบันบำราศนราดูร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นายไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำราชอาณาจักรไทย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัด สธ. และ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดการประชุมวิชาการความสำเร็จของความร่วมมือในการแก้ปัญหาสาธารณสุข ระหว่าง สธ.ประเทศไทย และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. CDC) ภายใต้คำขวัญ ไทย-สหรัฐรวมพลังสร้างสุขภาพ หรือ 2Nations 2gether 4Health

นายอนุทิน กล่าวว่า ความร่วมมือของ สธ.และยูเอส ซีดีซี ที่มีมาอย่างยาวนาน ส่งผลสำคัญต่อการวางรากฐานความมั่นคงของระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการป้องกันควบคุมโรคในประเทศไทย ร่วมกันก่อตั้งโครงการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนาม (FETP: Field Epidemiology Training Program) นอกทวีปอเมริกาเป็นครั้งแรกเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ทำให้ไทยมีแพทย์ สัตวแพทย์ ระบาดวิทยาภาคสนาม ที่สามารถดำเนินการด้านการสืบสวนและสอบสวนโรคในการตอบโต้ต่อเหตุการณ์โรคระบาดต่าง ๆ มีความพร้อมทั้งบุคลากร ระบบเฝ้าระวัง การป้องกันควบคุมโรค ระบบห้องปฏิบัติการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก

“ในสถานการณ์โรคโควิด-19 ได้สนับสนุน พัฒนา แลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญระบาดวิทยา ช่วยดำเนินการเรื่องการติดตามผู้สัมผัส/ ผู้ป่วยร่วมกับกรมควบคุมโรค และส่งทีมเจ้าหน้าที่ยูเอส ซีดีซี ทำงานร่วมกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง พัฒนาระบบข้อมูล การติดตามผู้ป่วยและผู้สัมผัส และห้องปฏิบัติการ ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ และกรุงเทพมหานคร (กทม.) พัฒนาระบบเฝ้าระวังและการรับมือสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 รวมทั้งผู้ที่สำเร็จการฝึกอบรม FETP และอดีตผู้อำนวยการฝ่ายไทย ศูนย์ความร่วมมือไทย- สหรัฐ ด้านสาธารณสุขหลายคน ได้มีส่วนสำคัญในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สามารถรับมือการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไทยเป็นผู้นำด้านความมั่นคงสุขภาพโลก” นายอนุทิน กล่าว

Advertisement

นายอนุทิน กล่าวว่า ในช่วงหลายทศวรรษ นอกจากโครงการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญระบาดวิทยาภาคสนามแล้ว ยังมีความร่วมมือทางด้านการวิจัยและกิจกรรมความร่วมมือมากมาย เช่น เอชไอวี/เอดส์ โรคอุบัติใหม่ ไข้หวัดใหญ่ และโรคไม่ติดต่อ การปรับปรุงระบบการป้องกันและควบคุมโรคในประเทศไทย ให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และองค์ความรู้ซึ่งได้ถูกแปลไปเป็นนวัตกรรม และนำไปปรับใช้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลกในอนาคตจะสานต่อความร่วมมือทางวิชาการ แลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญของทั้งสองประเทศ เพื่อความมั่นคงความปลอดภัย และความมีสุขภาพดีของประชาชนทั้งสองประเทศ เสริมศักยภาพให้ประเทศไทยเป็นผู้นำ ด้านสาธารณสุขในภูมิภาคนี้

ด้านนายไมเคิล กล่าวว่า ยูเอส ซีดีซี และ สธ.ของประเทศไทยได้ร่วมดำเนินงานเป็นพันธมิตรกันมาอย่างยาวนาน โดยระดมนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจากทั้ง 2 ประเทศ มาปฏิบัติงานร่วมกัน ซึ่งส่งผลให้ประชาชนชาวไทย ชาวอเมริกัน และประชากรของโลกมีความปลอดภัยและมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งความสำเร็จนี้เกิดจากการแบ่งปันความรู้และวิธีการต่างๆ ซึ่งช่วยปรับปรุงและยกระดับประสิทธิภาพในการป้องกัน ตรวจจับ และรักษาโรค การตอบโต้และรับมือการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย

Advertisement

“ขณะนี้ เป็นตัวอย่างอันเด่นชัดที่แสดงให้เห็นว่า ความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศของทั้งสองนั้นมีความสำคัญอย่างไรในการสร้างศักยภาพและเครื่องมือต่างๆ ที่จำเป็นในการรับมือและตอบโต้การระบาดใหญ่ทั่วโลกในครั้งนี้ให้ประสบผลสำเร็จ” นายไมเคิล กล่าว

ทั้งนี้การประชุมจัดโดยสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขและศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข (TUC) เพื่อฉลองวาระครบรอบ 40 ปีความร่วมมือ รวบรวมและถ่ายทอดผลงานความสำเร็จด้านการป้องกันควบคุมโรคที่ได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการและงบประมาณจากยูเอส ซีดีซี และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมมอบรางวัลผู้ชนะการประกวดโลโก้ ฉลองครบ 40 ปี ความร่วมมือ รางวัลการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนสำหรับแพทย์ FETP รุ่นที่ 1 รางวัลการดำเนินความร่วมมือต่อเนื่องยาวนาน และรางวัลหน่วยงานที่มีความร่วมมือในการดำเนินงานรายแผนงาน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image