สธ.ชี้ 2 ร.ร.หัวหิน ไม่ต้องปิดเรียน กำชับ อสม.เข้มโควิด-19 พื้นที่พรมแดนทั่ว ปท.

สธ.ชี้ 2 ร.ร.หัวหิน ไม่จำเป็นต้องปิดเรียน กำชับ อสม.เข้มโควิด-19 พื้นที่พรมแดนทั่ว ปท.

กรณีโรงเรียนในพื้นที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 2 แห่ง คือ โรงเรียนอานนท์ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ และ โรงเรียนบ้านห้วยไคร้ ต.บึงนคร ประกาศปิดโรงเรียน 7 วัน ด้วยเหตุจำเป็น ตั้งแต่วันที่ 1-7 กันยายนนี้ เนื่องจากพบว่ามีผู้ปกครองของนักเรียนได้เดินทางกลับจากประเทศเมียนมานั้น

เมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ข้อมูลการระบาดของโควิด-19 ในประเทศเมียนมา พบว่าเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม มีการระบาดศูนย์กลางอยู่ที่รัฐยะไข่ ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับประเทศบังคลาเทศ และพบประปรายพื้นที่อื่น เช่น ย่างกุ้ง

“ข้อมูลรายสุดเช้าวันนี้ มีจำนวนผู้ป่วยสะสม 882 ราย อย่างไรก็ตาม ประเทศเมียนมามีการควบคุมโรคที่รวดเร็ว เช่น ปิดเมือง จำกัดการเดินทาง ปิดน่านฟ้า ซึ่งจำข่วยจำกัดการแพร่ระบาดของโรคได้ค่อนข้างดี หากทำการควบคุมได้ดี คาดว่าใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า สถานการณ์จะดีขึ้น ในส่วนของประเทศไทยมีการเพิ่มมาตรการในพรมแดนไทย-เมียนมา เพิ่มการป้องกันการเดินทางโดยเป็นการทำงานร่วมกันของฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองและสาธารณสุข ได้ร่วมกับฝ่ายความมั่นคงมากขึ้นในการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างใกล้ชิด หากมีการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย เมื่อถูกจับกุมจะมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ส่วนคนไทยที่เดินทางกลับเข้าประเทศมาต้องกักกันตัวอย่างน้อย 14 วัน ตามมาตรการที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง” โสภณ กล่าว

นอกจากนี้ นพ.โสภณกล่าวว่า ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่ไม่ชัดเจนมาก ที่ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่ของประเทศเมียนมามีขนาดใหญ่ ข้อมูลที่เรามีอาจไม่เป็นปัจจุบันรวมถึงการเดินทางบกข้ามพรมแดนนั้นไม่มีข้อมูลการเดินทางที่ชัดเจน ต่างจากการเดินทางด้วยเครื่องบินหรือเรือที่มีข้อมูลการเดินทางที่ชัดเจน การเดินทางบกจึงมีโอกาสหลุดเข้ามาได้

Advertisement

นพ.โสภณกล่าวอีกว่า ในการกลุ่มแรงงาน หรือคนต่างด้าว ก็ให้มีการเฝ้าระวังการป่วยเป็นกลุ่มก้อน โรคทางเดินทางหายใจ หรือไข้หวัดด้วย หากมีการป่วยมากกว่า 5 คน ให้มีการสุ่มตรวจหาโควิด-19 ทันที ความเสี่ยงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศเมียนมา ทำให้ผู้บริหารของ สธ. มีแนวคิด ที่จะให้การช่วยเหลือด้วยการอบรมเพิ่มความรู้ให้ในกลุ่มบุคลากรด้วยกัน ในเรื่องของการค้นหาผู้ป่วยด้วยการตรวจห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสาตร์ และการแลกเปลี่ยนความรู้ในการควบคุมโรค

นพ.โสภณกล่าวว่า ในกรณีที่ผู้ปกครองของนักเรียนเดินทางกลับมาจากเมียนมานั้น ข้อมูลที่รับรายงาน เป็นผู้ปกครองของเด็กหญิงอายุ 14 ปี เดินทางกลับถึงไทยเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานว่าผู้ปกครองป่วยโควิด-19 หรือไม่ ต้องมีการสอบสวนโรคเพิ่มเติมว่าเดินทางมาจากเมืองใดในเมียนมา เคยไปโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ รวมถึงมีอาการป่วยใดๆ หรือไม่ และตามคำแนะนำมาตรการสั่งปิดโรงเรียน คือการพบผู้ป่วยในโรงเรียน เช่น นักเรียน บุคลากรในโรงเรียน ส่วนกรณีนี้อาจจะให้นักเรียนรายดังกล่าวหยุดเรียนไปก่อน ส่วนเพื่อนร่วมชั้นเรียนไม่มีความเสี่ยง สามารถมาเรียนได้ตามปกติ ลดโอกาสการหยุดเรียนโดยไม่จำเป็น

“จะต้องมีมาตรการป้องกันด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เลี่ยงการทำกิจกรรมรวมตัวกันของนักเรียน การเว้นระยะห่างในชั้นเรียนแต่หากเลี่ยงไม่ได้ในข้อนี้ก็ต้องเพิ่มมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลมากขึ้น” นพ.โสภณกล่าว

Advertisement

วันเดียวกัน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ขณะนี้ สบส.ได้มีการกำชับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์กลุ่ม อสม.ให้ช่วยสอดส่องดูแลและเข้มงวดกับการลักลอบเข้ามาตามแดนพรมแดนธรรมชาติของแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีพรมแดนกับเมียนมา โดยได้สั่งการให้ อสม.ปฏิบัติงานร่วมกับพื้นที่ ทั้งกระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่สาธารณสุข กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน เพื่อเฝ้าระวังด่านพรมแดน พร้อมทั้งให้ช่วยสอดส่องคนในหมู่บ้านว่ามีคนแปลกหน้าเข้ามาหรือไม่

“อสม.จะรู้ดีว่าใครเป็นคนในพื้นที่หรือนอกพื้นที่ทำให้ง่ายแก่การเฝ้าระวังโรค อย่างไรก็ตาม หากพบกลุ่มแรงงานต่างด้าวหรือคนแปลกหน้า ให้รายงานไปที่พื้นที่ เช่นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข นอกจากนี้ยังได้จะกำชับให้ในพื้นหากพบการลักลอบเข้ามาของแรงงานต่างด้าวให้รายงานเข้ามาที่ส่วนกลางด้วย” นพ.ธเรศกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image