เปิดชื่อ 10จว.ชายแดน เสี่ยงแพร่โควิด-19 สธ.ย้ำนายจ้างคุมเข้มแรงงานต่างด้าว

เปิดชื่อ 10จว.ชายแดน เสี่ยงแพร่โควิด-19 สธ.ย้ำนายจ้างคุมเข้มแรงงานต่างด้าว

เมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ประเทศเมียนมาเริ่มกลับมาพบการแพร่ระบาดใหม่อีกครั้งช่วงกลางเดือนสิงหาคม ซึ่งการระบาดระลอก 2 มีความรุนแรงค่อนข้างมาก ใช้เวลาเพียง 15 วัน ก็พบผู้ป่วยรายใหม่เท่าๆ กับจำนวนผู้ป่วยที่สะสมมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนสิงหาคม โดยเมืองที่พบผู้ป่วยมาก คือ รัฐยะไข่ มีชายแดนติดกับประเทศอินเดียและบังคลาเทศ และเป็นศูนย์กลางการระบาดระลอก 2

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า มีหลายฝ่ายให้ความเห็นว่า ช่วงแรกของประเทศไทยที่พบความเสี่ยงของโควิด-19 มาจากการเดินทางด้วยเครื่องบินทางอากาศ ที่มาจากประเทศจีน และประเทศฝั่งยุปโรป อเมริกา แต่ภายหลังประเทศไทยจัดการกับกลุ่มผู้เดินทางโดยเครื่องบินได้เป็นอย่างดี ด้วยการจัดสถานกักกันโรค (Quarantine) ความท้าทายของประเทศไทยขณะนี้คือ ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเช่นเดิม แต่เป็นการเดินทางข้ามแนวชายแดนทางบก

“สถานการณ์ของเมียนมา จึงทำให้ไทยต้องเตรียมความพร้อม ไม่ว่าสถานการณ์ในเมียนมาจะเป็นอย่างไร เราต้องเตรียมพร้อมไว้ก่อน และหวังว่าประเทศเขาจะควบคุมสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากควบคุมได้ดีประเทศไทยจะมีความเสี่ยงลดลง แต่หากควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ เราต้องเตรียมพร้อมเผชิญหน้ากับการมีผู้ป่วยกระเซ็นกระสายมาในประเทศไทย เพราะฉะนั้นจังหวัดเสี่ยง สธ.ระบุไว้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 จังหวัดแนวชายแดน 10 จังหวัด ได้แก่ ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และ กลุ่มที่ 2 จังหวัดที่แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย มักไปทำงานอยู่ เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ชลบุรี เป็นต้น ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมที่รับแรงงานต่างด้าวเข้ามา ดังนั้นกลุ่มจังหวัดเหล่านี้ต้องเริ่มเตรียมความพร้อม จัดระบบป้องกัน ค้นหาเตรียมการรักษาพยาบาล รวมถึงการเตรียมทีมสอบสวนโรค ไม่ใช่แค่ภาคสาธารณสุข แต่เป็นทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายมั่นคง สาธารณสุข ภาคเอกชน ประชาสังคม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

Advertisement

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวตามแนวชายแดนไม่ใช่เพียงผู้เดินทางจากประเทศเมียนมาเข้าประเทศไทย แต่ยังมีคนไทยที่เดินทางข้ามชายแดนไปๆ มาๆ ในประเทศเมียนมาด้วย ซึ่งลักษณะเช่นนี้ทางสาธารณสุขต้องเข้าไปจัดการ เพื่อระบุให้ได้ว่ามีผู้ใดเดินทางข้ามชายแดน พร้อมเฝ้าระวังเพื่อค้นหาผู้ป่วยอย่างเข้มข้นซึ่งนำไปสู่การตรวจวินิจฉัยโรคให้ได้โดยเร็ว ภาคเอกชนก็สามารถช่วยสอดส่องและไม่แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าทำงานในระยะนี้ พร้อมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว ก็สามารถช่วยสอดส่องค้นหาแรงงานต่างด้าวแปลกหน้าที่เข้ามาในพื้นที่ได้

“ช่วงนี้เราต้องหยุดรับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศไทย กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ส่งหนังสือสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ให้มีการดำเนินการไม่ว่าจะเป็นด้านใดอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะ 10 จังหวัดชายแดน เช่น การจัดการผู้เดินทางเข้าออก ในจุดผ่านแดน จุดผ่อนปรน ช่องทางธรรมชาติ เฝ้าระวังไม่ให้มีการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น และหวังว่าประเทศเมียนมาจะควบคุมสถานการณ์ได้ เรายังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นอกจากนี้ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายน ในประเทศอินโดนีเซีย โดยแพทยสมาคมอินโดนีเซีย ได้ออกมาให้ข่าวว่า มีแพทย์ของอินโดนีเซียเสียชีวิตได้แล้ว 100 ราย ซึ่งสถานการณ์ของอินโดนีเซียค่อนข้างรุนแรง มีผู้ป่วยสะสมประมาณ 117,000 ราย เสียชีวิตกว่า 7,500 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ด้วยจำนวนหนึ่ง สถานการณ์ของไทยที่ไม่พบผู้ป่วยมาซักระยะหนึ่ง หากการกลับมาพบผู้ป่วยอีกครั้งในระยะแรก อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดหรือติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ได้ หากมีความย่อหย่อนในมาตรการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล (รพ.) สธ.จึงต้องให้ รพ. ยังคงเข้มข้นในมาตรการป้องโรคต่อไป

Advertisement

นพ.ธนรักษ์ กล่าวต่อไปว่า ในระยะที่ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดยังมาจากต่างประเทศเป็นหลัก จะต้องมีการเตรียมการและจัดการความเสี่ยงระดับบุคคล หน่วยงาน/องค์กร และสถานรับผู้เดินทางไว้สังเกตอาการต้องมีมาตรการในการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด โดยขณะนี้ต้องดูแลในกลุ่มแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย ดังนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันดูแบ เช่น การจัดการสถานที่มีผู้คนหนาแน่น สถานที่ประกอบศาสนกิจ การป้องกันโรคในโรงเรียนอย่างเหมาะสม และจุดแตกหักที่สำคัญ คือ โรงพยาบาล ต้องปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ และในผู้ป่วย

“วันหยุดยาว รัฐบาลมีความตั้งใจให้คนไทยได้พักผ่อน สถานการณ์ในเมืองไทยค่อนข้างมีความเสี่ยงต่ำ อยากเชิญชวนคนไทยทุกคนออกมาสนับสนุนคนไทยด้วยกัน ด้วยการกินของไมย ใช้ของไทย เมี่ยวเมืองไทยอย่างปลอดภัย” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การลักลอบเข้าเมืองจะเกิดการระบาดระลอก 2 ในประเทศไทยหรือไม่ และสาธารณสุขไทยรับมือไหวหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ต้องถามว่า คนไทยรับมือไหวหรือไม่ เนื่องจากการจัดการโรคติดต่อขนาดใหญ่ทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน สนับสนุนภาพรวมของประเทศ

“เราเคยชนะมารอบหนึ่งแล้ว และหลายประเทศที่ระบาดระลอก 2 เช่น นิวซีแลนด์ เวียดนาม ก็จัดการกับโรคได้เป็นอย่างดี ผมเชื่อมั่นในคนไทยทุกคน เชื่อมั่นในระบบสาธารณสุข และเชื่อมั่นในทุกหน่วยงานว่ายังคงจัดการกับปัญหาได้ต่อไป ทุกคนมีส่วนร่วม ทุกคนลงเรือลำเดียวกัน ส่วนเรื่องการเข้าเมืองผิดกฎหมาย ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน อย่าโยนภาระให้ฝ่ายเดียว ภาคเอกชนที่รับแรงงานก็มีส่วนช่วยด้วยการบอกกล่าวว่าพนักงาน มีนโยบายชัดเจนว่าไม่รับแรงงานต่างด้าวในช่วงนี้ ขอให้พนักงานสอดส่องและแจ้ง รวมถึงบอกพนักงานในบริษัทว่าอย่าไปคลุกคลีกับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ซึ่งหากเข้ามาพักด้วยกันก็เพราะรู้จักกันมาก่อน” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า หากเกิดผลกระทบโรคระบาดในพื้นที่ ก็มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมด้วย และทีมของสาธารณสุข ทีมมหาดไทยลงไปสอบสวนโรคพื้นที่เสี่ยง ก็จะต้องมีการปิดโรงงาน ปิดโรงงาน ตามมาด้วยการกักกันบุคลากรในพื้นที่พบผู้ป่วย ดังนั้นจะมีผลกระทบกับภาคเอกชนที่ยังคงรับแรงงานต่างด้าวเข้าทำงาน ภาคสาธารณสุข ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานสาธารณสุขตามแนวชายแดน เข้มงวดกับการช่วยฝ่ายปกครองดูแล หากพบการเคลื่อนที่ของประชากรตามแนวชายแดน ก็ต้องเฝ้าระวังในครอบครัว หรือบางกรณีต้องสอบสวนโรคและกักกันผู้เดินทางกลับมาจากประเทศเมียนมา

“ในหลักการผู้เดินทางต้องใช้หลักการเดียวกัน ไม่ว่าจะออกจากประเทศไทยกี่วันก็ตาม ดังนั้นภาพรวมการจัดการที่ภาครัฐมอง เป็นการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนไม่ใช่เพียงภาคสาธารณสุขเท่านั้น จึงอยากเชิญชวนทุกฝ่ายได้เข้ามาร่วมมือกัน เพื่อทำให้เราเป็นประเทศที่ปลอดโรคไปอีกระยะหนึ่ง หากพบผู้ป่วยขึ้นมาเราจะสามารถควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image