10 จว.พรมแดนติดเมียนมา ยันพร้อมรับมือโควิด-19 ห่วงจุดเสี่ยง อ.แม่สอด
กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศเมียนมา ซึ่งนับเป็นระลอกที่ 2 มีแนวโน้มรุนแรง และคาดว่าการระบาดครั้งนี้จะแพร่ถึงชายแดนประเทศไทยภายใน 2 สัปดาห์ และกำลังกลายเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลของทุกฝ่าย เนื่องจากไทยกับเมียนมามีพรมแดนติดกันหลายพื้นที่นั้น
วันนี้ (8 กันยายน 2563) นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 2 กล่าวถึงการควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 2 ว่า จ.ตาก มีพรมแดนติดกับ เมียนมา วันนี้ได้มีการประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และโรงพยาบาลในพื้นที่ 5 อำเภอชายแดนไทย-เมียนมา ทั้ง อ.แม่สอด อ.ท่าสองยาง อ.พบพระ อ.อุ้มผาง และ อ.แม่ระมาด เพื่อวางแผนรับมือโควิด-19 ในเมียนมาที่อาจจะข้ามมาฝั่งไทยได้ เพราะสถานการณ์เมียนมาวันนี้พบผู้ป่วยมากขึ้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด
“สำหรับกรณีที่มีบุคลากรออกมาเปิดรับบริจาคอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ นั้นเข้าใจว่าเป็นความห่วงใย และกังวลว่าอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ในการป้องกันอาจไม่พอ ต้องการขอเพิ่ม อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจครุภัณฑ์ทั้งยาและการป้องกัน มีเพียงพอใช้ได้นาน 2-3 เดือน ยังไม่จำเป็นต้องร้องขอเพิ่ม ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกันกับบุคลากรในพื้นที่ว่าขณะนี้ยังไม่มีการระบาด ไม่จำเป็นต้องร้องขอเพิ่ม และวันนี้ (8 กันยายน) มีรถชีวนิรภัยพระราชทานลงพื้นที่มาตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่แล้ว” นพ.ภาณุมาศกล่าว
ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้ตรวจราชการ สธ.เขตสุขภาพที่ 5 กล่าวว่า เขต 5 มีทั้งหมด 8 จังหวัด ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ติดขอบชายแดนเมียนมา โดยจังหวัดที่มีความเสี่ยง 4 จังหวัด คือ ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ อย่างไรก็ตาม จังหวัดที่ไม่ติดขอบชายแดน แต่เป็นเป้าหมายการเดินทางมาทำงานของกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เดินทางผ่านจุดข้ามแดนแม่สอดเข้ามามี 2 จังหวัด คือ จ.นครปฐม กลุ่มแรงงานตลาดปลา จ.สมุทรสาคร ที่มีโรงงานจำนวนมาก และเป็นเมืองหลวงนอกประเทศเมียนมา และอีก 2 จังหวัดที่มีความเสี่ยงต่ำ คือ จ.สมุทรสงคราม และ จ.สุพรรณบุรี ขณะนี้ก็มีความร่วมมือกับทางจังหวัดในการเฝ้าระวังกลุ่มแรงงานต่างด้าวอย่างใกล้ชิด ทั้งที่ทำงานในไทยอยู่แล้ว และป้องกันการลักลอบ
“ล่าสุด ในพื้นที่มีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์เต็มที่ ทั้งบุคลากรและอุปกรณ์การแพทย์ และห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ตรวจเชื้อ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแม้จะไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อในประเทศ แต่ในเขตก็มีการสุ่มตรวจหาเชื้อเดือนละ 1 ครั้ง ทั้งในกลุ่มบุคลากรการแพทย์และกลุ่มผู้ป่วยทั่วไปก่อนเข้ารับการรักษาหัตถการสำคัญ เช่น เดือนเมษายน ตรวจ 3,446 ตัวอย่าง เดือนมิถุนายน 9,333 ตัวอย่าง ทั้งหมดให้ผลเป็นลบ และขณะนี้กำลังดำเนินการเก็บสิ่งส่งตรวจในกลุ่มแรงงานต่างด้าวในพื้นที่อีก 1,000 ตัวอย่าง” พญ.อัมพรกล่าว
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการ สธ.เขตสุขภาพที่ 1 กล่าวว่า ในพื้นที่เขต 1 ซึ่งมี 3 จังหวัด ที่มีชายแดนติดกับเมียนมา คือ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอน สถานการณ์ใน 3 จังหวัดนี้ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะขณะนี้มีการปิดด่านพรมแดนระหว่าง 2 ประเทศแล้ว ถ้าจะมีคงเป็นกรณีการลักลอบเข้าประเทศผ่านพรมแดนธรรมชาติ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเฝ้าระวังกันอย่างเข้มงวด มีการเตรียมพร้อมอุปกรณ์การแพทย์ ยาเวชภัณฑ์ต่างๆ พร้อมรับมือประมาณ 3 เดือน และพร้อมรับมือ 2 สัปดาห์ข้างหน้าที่สันนิษฐานว่าโควิด-19 จากเมียนมาจะประชิดชายแดนไทยด้วย
“สิ่งที่มอบให้แต่ละจังหวัดในเขต 1 ทำอยู่คือ กำหนดชุมชนเสี่ยงที่มีการข้ามไป-มาระหว่าง 2 ประเทศ หรือชุมชนที่แรงงานมามักจะไปพำนักหรือทำงาน ว่าจะต้องมีการสุ่มเก็บตัวอย่างของคนในชุมชนนั้น ประมาณ 30-40 คน เพื่อตรวจหาเชื้ออยู่สม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดการหลุดรอด” นพ.ธงชัยกล่าว และว่า แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ อ.แม่สอด จ.ตาก
ด้าน นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้ตรวจราชการ สธ.เขตสุขภาพที่ 11 กล่าวว่า มี 2 จังหวัดติดชายแดนเมียนมา คือ จ.ชุมพร และ จ.ระนอง จากการตรวจสอบเขต 11 มีความพร้อม ทั้งอุปกรณ์การแพทย์รวมถึงเตียงในการรับมือโควิด-19 มีการประสานผู้ว่าราชการจังหวัดในการเฝ้าระวังแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง ในพื้นที่ที่มีพรมแดนติดกับเมียนมา คือ จ.ระนอง จ.ชุมพร รวมถึง จ.ภูเก็ต ด้วย แม้ไม่มีพรมแดนติดกับเพื่อนบ้าน แต่ก็มีนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่